คุณมนต์ชัย ฯ เป็นบุุคคลที่ผมเห็นว่าสนใจในประวัติศาสตร์ของทหารเรือมากและดูเหมือนว่าจะ มากกว่านายทหารเรือบางท่านเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเชื่้อสายทหารเรือ คุณมนต์ชัย ฯ ได้ติดต่อกับผมทางโทรศัพท์เรื่อยมาตั้งแต่ท่านริเริ่มจะซ่อมปืนใหญ่ ๑๕๒/๓๒ มิลลิเมตร ของป้อมพระจุลจอมเกล้าให้ใช้ยิงได้ และได้ "ลงทุนลงแรง" จนซ่อมปืนที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี และเครื่องแรงน้ำมัน (ไฮดรอลิกส์) สำหรับยกปืนจนใช้ได้สำเร็จ ต่อมาเมื่อจะนำเรือหลวงแม่กลองไปตั้งไว้บนบกเป็นอนุสรณ์
คุณมนต์ชัย ฯ ก็ตั้งใจสร้างเครื่องบินทะเลประจำเรือหลวงแม่กลองซึ่งเป็นแบบราชนาวี ๑ (บรน. ๑) หรือแบบวานาตาเบ WS-103 เอาไว้บนเรือ
ได้ติดต่อขอรายละเอียดต่าง ๆ จากผม ผมได้พยายามส่งไปให้เท่าที่ผมรวบรวมไว้
รวมทั้งรูปถ่ายเครื่องบินนี้จากหนังสือพิมพ์ในพิธีรับมองและเจิมเครื่องบิน
ซึ่งประชาชนซื้อให้ (ราคาประมาณเครื่องละ ๓๗,๗๐๐ บาท)
รูปเหล่านี้ผมตัดจากหนังสือพิมพ์ปิดไว้ในสมุดจดหมายเหตุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔
นอกจากนั้น เมื่อมีผู้เขียนบทความลงในวารสารต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของทหารเรือ และคุณมนต์ชัย ฯ
เห็นว่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คุณมนต์ชัย
ก็จะเขียนจดหมายไปทักท้วงและส่งสำเนามาหารือผมอีกด้วย นับว่าคุณมนต์ชัย ฯ
เป็น "แฟนทหารเรือ" ที่ประหลาดและหาได้ยาก ทั้งนี้ผมได้สนับสนุนคุณมนต์ชัย ฯ
ตลอดมาตามกำลังสติปัญญาของผมเมื่อกองทัพเรือทำพิธีเปิด "อุทยานประวัติศาสตร์" นั้น ได้เชิญผมไปร่วมพิธีด้วย แต่ในวันนั้น สุขภาพของผมไม่อำนวย ผมจึงไม่ได้ไปร่วมงาน เมื่อจะได้ชม "อุทยานประวัติศาสตร์" ในครั้งนี้ก็เป็นอันตรงกับความตั้งใจของผม
คุณมนต์ชัย ฯ ได้เชิญรองศาสตราจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรไปด้วย ท่านผู้นี้ได้เคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกองทัพเรือเมื่อท่าศึกษาปริญญาโท จึงทราบเรื่องราวในอดีตของกองทัพเรือมากพอสมควร
คุณมนต์ชัย ฯ คงจะได้ติดต่อประสานงานกับทางป้อมพระจุลจอมเกล้าไว้ก่อนแล้ว เมื่อไปถึงจึงได้พบนาวาโท อภิเดช อินทรวงศ์ รองผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้า มาต้อนรับและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เริ่มจากการนำไปสักการะศาลพระนเรศ - นารายณ์ แล้วถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์บิดาของกองทัพเรือ และพระอนุสรณ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีพระคุณแก่กองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้ ถ้าไม่มีพระยาทสมเด็จพระปิยมหาราช หน่วยงานที่ปฏิบัติการทางเรือก็คงจะเป็นหน่วยย่อย ๆ ในบังคับบัญชาของเจ้านายและข้าราชการ เช่น "ทหารเรือวังหน้า" กรมอรสุมพล กรมเรือกลไฟ กรมเรือพระที่นั่งเวสาตรี กรมแสง กองทหารมะรีน ฯลฯ อยู่เช่นเดิมไม่มีเอกภาพในการงานแะการบังคับบัญชาสภาพนี้มีอยู่จนเมื่อ พระองค์พระราชทานกำเนิด "กรมทหารเรือ" ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๐ พระองค์จึงทรงเป็น "องค์บิดาของกองทัพเรือ" ตั้งแต่นั้นมา แต่การงานและองค์บุคคลก็ยังไม่เข้ารูปจนเมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดม ศักดิ์ เสด็จกลับจากอังกฤษมารับราชการใน พ.ศ.๒๔๔๓ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษาเท่านั้น พระองค์ได้ริเริ่มฝึกทหารเหล่าทัศนสัญญาณเป็นหน่วยแรกในปีนั้น และคงจะได้ทรงเห็นพื้นฐานความรู้และสังคมของ "บุตรหมู่" ที่เป็นทหารเรือว่ามีเพียงใด ต่อมาพระองค์ได้ทรงฝึกพลทหารที่บางพระ ทรงกำหนดการฝึกและสั่งสอนอบรมประเพณีนิติธรรมของทหารเรือไปด้วยในเวลาเดียว กัน และทรงเห็นว่าผู้เป็นนายทหารที่เป็นผู้อบรมนั้นเป็นข้าราชการพลเรือนมาแต่ เดิม มีพื้นฐานและวินัยทหารไม่ดีกว่าผู้ที่เป็นพลทหาร พระงอค์จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายไปเป็น "ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ" ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็น "การสำคัญสำหรับภายหน้า" แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จนกระทั่งอีก ๓ ปีต่อมา พระองค์จึงได้เข้าดูแลและควบคุมการฝึกหัดศึกษาในโรงเรียนนายเรือ ทั้งฝึกสอนวิชาทหาร วางระเบียบปฏิบัติตลอดจนอบรมประเพณีนิติธรรมของทหารเรือไปด้วย ทรงเป็น "เสด็จเตี่ย" ของนักเรียนและทหารเรือทั้งหลายในเวลาต่อมา ทหารเรือที่มาจากกรมกองและเชื้อชาติต่าง ๆ คือ มอญ ลาว อาสาจาม ไทย ฯลฯ จึงพ้นจากสภาพเดิมของตน กลายเป็น "ทหารเรือ" อันเดียวกัน พระองค์จึงทรงเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย" อย่างแท้จริงทั้งในรูปธรรมและนามธรรมสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
เสด็จจากการถวายสักการะแล้ว นาวาโท อภิเดช ฯ ได้นำไปชมปืนใหญ่ประจำป้อม ฯ ที่ซ่อมเสร็จและทดลองยิงไปแล้ว คุณมนต์ชัย ฯ เล่าถึงความลำบากในการซ่อมซึ่งจะต้องจัดทำชิ้นส่วนขึ้นเองและติดต่อโดยตรง กับบริษัทผู้สร้างปืนซึ่งยังเก็บอดีตไว้เป็นประวัติ ผมจำได้ว่าในหนังสือ "คู่มือวัตถุระเบิด" ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ ซึ่งพิมพ์เมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว และผมเคยใช้เป็นหนังสือเรียนในชั้น ๔ ของโรงเรียนนายเรือ มีรายการเกี่ยวกับดินระเบิดและ "ดินขับ" (ดินส่งกระสุน) ของปืนนี้อยู่ด้วย นอกจากนั้นในการยิงทดลองปืนนี้ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริสรานุวัตติวงศ์ ทรง "รั้งตำแหน่ง" ผู้บัญชาการกรมทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๓๘ นั้นทรงกล่าวไว้ในรายงานของพระองค์ว่า "มีเครื่องวัดระยะทางบนเสาธงของป้อม" ซึ่งวัดระยะและส่งมายังปืน ผมจึงขอให้คุณมนต์ชัย ฯ ซึ่งเป็นวิศวกรพิจารณาว่าจะเป็น "เครื่องวัดระยะทาง" แบบใด เพราะต้องไม่ใช่กล้องวัดระยะทาง (RANGE FINDER) ที่ใช้กันในเวลาต่อมาแน่นอน
ต่อจากนั้นได้เดินมาที่อนุสรณ์เรือหลวงแม่กลอง นาวาโท อภิเดช ฯ อธิบายว่าได้ยกเครื่องบินทะเลที่ชำรุดไปเก็บไว้บนบกแล้ว อนุสรณ์เรือหลวงแม่กลองได้รับการทาสีใหม่สวยงาม แต่ผู้ทาสีได้ "ลบขีดขาว ๒ ขีด ที่แนวน้ำหัวเรือ" อาจเป็นเพราะยัง "ทาสีไม่เสร็จ" หรือเห็นว่า "ไม่มีความหมาย" แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วขีดยาว ๒ ขีดนี้มีความสำคัญมากแก่เรือในสมัยที่ใช้พาราเวนประจำเรือ
ขีดขาว ๒ ขีดที่แนวน้ำหัวเรือของเรือหลวงแม่กลองชี้ไปยังช่องหรือรูที่เจาะไว้ที่กระดูกงูของเรือเพื่อร้อยลวดห่วงพาราเวน ที่กราบเรือในแนวตรงกันมีพุกที่ทำไว้เป็นพิเศษทั้ง ๒ กราบ เมื่อเวลาจะใช้พาราเวน จะใช้กระบอกยาวจากดาดฟ้าถึงแนวน้ำ ตรงปลายทำเป็นกรวยรองรับลูกทุ่นเล็ก ๆ ที่ร้อยเชือกไว้ในกระบอกทุ่น ทหารบนดาดฟ้าจะไสกระบอกนี้ไปตามขีดขาว เมื่อปลายกระบอกมีทุ่นเลื่อนไปถึงช่องที่กระดูกงู ทุ่นก็จะลอดช่องนั้นไปโผล่ขึ้นอีกกราบหนึ่งทหารบนเรือก็จะใช้ขอด้ามยาว เกี่ยวทุ่นขึ้นมาบนเรือ แล้วผูกโซ่นำตรึงไว้ที่พุกพิเศษดังกล่าวแล้วทั้ง ๒ กราบ เมื่อนำลวดห่วงพาราเวนซึ่งมีขนาดโตประมาณ ๒ นิ้ว (จำไม่ได้แน่นอน) ที่สันเกลียวทุกเกลียวมีลวดขนาดโตกว่าลวดที่ใช้ถักเป็นห่วงแทรกอยู่ทุก เกลียว ครูอธิบายว่า ความแข็งของลวดที่สันเกลียวประกอบกับความเร็วของเรือ จะทำให้มีกำลังพอที่จะตัดลวดสายทุ่นระเบิดให้ขาดได้ แต่ถ้ายังไม่ขาดลวดสายทุ่นระเบิดก็จะรูดไปตามลอดห่วงพาราเวนไปเข้ากรรไกรที่ ตัวพาราเวนอีกทีหนึ่ง ที่ต้องำเช่นนี้ก็เพื่อให้ลวดห่วงพาราเวนอยู่ต่ำถึงกระดูกงูของเรือเท่ากับ ที่หัวเรือกินน้ำลึก มิใช่ห่วงจากดาดฟ้าที่ตัวพาราเวนนั้นสามารถ "ตั้งลึก" ได้ตามที่ต้องการอยู่แล้ว ขีดขาว ๒ ขีดนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรักษาไว้
เรือในกองทัพเรือที่มีขีดขาว ๒ ขีดนี้มี ๔ ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เรือหลวงศรีอยุธยา และเรือหลวงธนบุรี ซึ่งเป็นเรือที่มีพาราเวนประจำเรือ
เมื่อผมเป็นนักเรียนนายเรือชั้น ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ฝึกภาคกับเรือหลวงแม่กลอง และมีการฝึกใช้พาราเวนกวาดทุ่นระเบิด เมื่อจะเข้าในบริเวณเกาะช้างทางด้านเกาะคลุ้ม เกาะหวาย ต้นตอร์ปิโดของเรือหลวงแม่กลอง คือ คุณครูเรือเอก ชัช จุลละรัต (ต่อมาเป็นพลเรือโทถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) เป็นผู้อำนวยการและยุ่งพอสมควร เพราะดาดฟ้ายก ของเรือหลวงแม่กลองในเวลานั้นปูด้วยยางต้องนำไม้กระดานที่มีสลักเกลียวสวม เข้ากับรูบนดาดฟ้ามาปูบนยางตามแนวทางที่ลวดห่วงพาราเวนจะผ่าน ได้เห็นพาราเวนที่กางออกไปทั้ง ๒ ข้างเรือ ผมได้เห็นการฝึกกวาดทุ่นระเบิดอีกครั้งหนึ่งในเรือหลวงศรีอยุธยา เมื่อเป็นว่าที่เรือตรีและไปฝึกกับเรือนั้นใน พ.ศ. ๒๔๘๗
หลังจากนั้นได้มารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารริมน้ำ มีผู้รับประทานเต็มร้าน และยังเข้าคิวรอโต๊ะว่างอีกหลายคน นาวาโท อภิเดช ฯ เล่าว่า เป็นอย่างนี้ทุกวันอาทิตย์ แต่วันธรรมดามีคนไม่มากนัก ผมได้แต่หวังว่า ภัตตาคารหรือร้านอาหารนี้ คงจะมีความเจริญยิ่งขึ้นถ้าได้ควบคุมราคาอาหารและการบริการให้สม่ำเสมอ
เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ได้ไปชมเครื่องบินทะเลซึ่งทางป้อม ฯ ได้นำมาเก็บไว้ในโรง คุณมนต์ชัย ฯ บ่นว่าได้สั่งไม้อัดอย่างดีชนิดที่ใช้ต่อเรือใบมาสร้างเครื่องบินนี้ก็ยัง ชำรุดจนได้ ผมระลึกถึงเครื่องบินสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเคยได้ชมที่กองทัพอากาศเมื่อเดินทางไกลไปดอนเมืองกับกองลูกเสือของ โรงเรียนอำนวยศิลป์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ และเป็นเครื่องบินที่สร้างด้วยไม้ ผ้า โครงลวด ฯลฯ เก็บอยู่ในโรงทั้งสิ้น ไม่ได้จอดกรำแดดกรำฝนไว้ แม้เครื่องบินทะเลของกองทัพเรือก็มีโรงเก็บอยู่ที่อ่าวจุกเสม็ด จะนำมาขึ้นเรือหลวงแม่กลอง ก็เมื่อจะออกเดินทางไปน่านน้ำต่างประเทศเท่านั้น และเมื่อกลับมาแล้วก็จะรีบนำไปเก็บไว้ในโรงตามเดิม การนำเครื่องบินมาไว้บนอนุสรณ์เรือหลวงแม่กลอง เพื่อให้ "ครบเครื่อง" จึงทำให้เครื่องบินต้องกรำแดดกรำฝนอีกทั้งลมตลอดเวลา จึงต้องผุกร่อนไปเป็นธรรมดา และควรหาวิธีสร้างโรงเก็บใกล้ ๆ เรือหลวงแม่กลองจะดีกว่า
คุณมนต์ชัย ฯ ยังรำลึกถึงปั่นจั่นคันเบ็ดสำหรับยกตัวเครื่องบินบนเรือหลวงแม่กลอง ว่า น่าจะมี "ให้ครบเครื่อง" เช่นเดียวกัน ผมจำได้ว่าเมื่อไปฝึกภาคกับเรือหลวงแม่กลอง ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ได้ฝึกขึ้นเสาที่เสาท้ายทุกวัน รู้สึกว่าจะได้ถอดปั้นจั่นคันเบ็ดออกแล้ว แต่ยังจำได้ว่าในหนังสือ "การเรือเล่ม ๓ ของโรงเรียนนายเรือ" ซึ่งผมเรียนใน พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้นมีรูปและแบบแปลนแสดงวิธีการตั้งปั้นจั่นคันเบ็ดยกเครื่องบินของเรือหลวง แม่กลองอยู่ด้วย ตำราการเรีือเล่มนี้เป็นเรื่องของอุปกรณ์การเรือต่าง ๆ ในเรือฝึกชุดเรือหลวงแม่กลอง เช่น ซาลล็อก (S.A.L. LOG) ดิ่งน้ำลึก ฯลฯ แต่เวลานี้คงจะหาหนังสือเล่มนี้ได้ยาก นอกจากจะมีหลงเหลืออยู่ที่คลังตำราหรือห้องสมุดที่ไม่รังเกียจหนังสือเก่า ๆ จึงยังไม่ได้รุทำลายเสีย แม้ตำราการเรือที่ครูในโรงเรียนนายเรือรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยที่ผมไปรับ ราชการที่โรงเรียนนายเรือใน พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ก็ได้แก้ไขตัดทอนมาจากตำราเดิม (ทั้งของโรงเรียนนายเรือ และ โรงเรียนชุมพลทหารเรือ) มีเฉพาะเรื่องที่ใช้การในเวลานั้นเท่านั้น
หลังจากนั้นจึงได้ไปเดินชมอุทยานประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ
ผู้ใดเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ นี้ขึ้น ขอได้รับความยกย่องและสรรเสริญจากผมด้วยความจริงใจในความอุตสาหะของท่าน ผมไม่เคยชม "อุทยานประวัติศาสตร์ ฯ" เช่นนี้ในต่างประเทศจึงไม่สามารถวิจารณ์หรือเปรียบเทียบได้นอกจากข้อสังเกต เล็ก ๆ น้อย ๆ ดังจะกล่าวต่อไป
ผมได้เห็นปืนที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่เข้ามาร่วมเครือนาวี และรับราชการ ปืนนี้มีลักษณะคล้ายกับปืนกลแกตลิง (GATLING) คือมีลำกล้อง ๕ ลำกล้อง รวมมัดอยู่ด้วยกัน ขาตั้งเป็นเหล็กและไม้ผสมกัน ลำกล้องโต ๓๗ มิลลิเมตร (ดูรูป)
ผมพยายามทบทวนความจำเรื่องที่เคยพบในเอกสารเก่า ๆ ที่เคยค้นคว้า
นึกได้ว่าในรายการของพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ เมื่อลาออกจากประจำการใน
พ.ศ. ๒๔๔๔ (เอกสารรัชกาลที่ ๕ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แฟ้ม ก.๑๔/๗๘)
ซึ่งมีรายการของเรือ บัญชีอาวุธต่าง ๆ ฯลฯ นั้น มีปืนชนิดหนึ่งซึ่งผมไม่รู้จักคือ HOTCHKISS 37 mm. REVOLVING GUN และผมเคยทึกทักเอา
ว่าคงจะเป็นปืนยิงเร็วของบริษัทฮอตช์คิสขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร
แต่ในบัญชีเดียวกันก็มีปืน HOTCHKISS 37 MM. QUICK - FIRING GUN อยู่ด้วย
ผมจึง "มืดแปดด้าน" สันนิษฐานไม่ได้ว่าเป็นปืนอะไร
มาได้พบของจริงในครั้งนี้เอง
เพื่อให้เรื่องของปืนนี้ต่อเนื่องกันจึงขอเล่าต่อไปเลยว่าเมื่อกลับถึงบ้าน
แล้ว ผมได้ค้นเรื่องที่จดมาจากเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
จึงพบว่ามีการกล่าวถึงปืนนี้ ๒ ครั้ง ด้วยกันคือ
๑. ในรายงานของกรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน (ก่อนการรบกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยาเดือนเศษ) กล่าวถึง "เรือมกุฏราชกุมาร" ว่ามี "ปืนฮ๊อตกิ๊ศ หมุนได้รอบ ๒ กระบอก" "ปืนแค๊ตลิง ๓ กระบอก" นอกนั้นเป็น "ปืนอามสตรอง ยัดท้าย" (บรรจุกระสุนทางท้ายกระบอก) ทั้งสิ้น (เอกสารรัชกาลที่ ๕ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแฟ้ม ก.๑๔/๗) แสดงว่าปืนนี้คงได้ใช้ยิงกับฝรั่งเศสที่ตีฝ่าปากน้ำเจ้าพระยา ใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) แต่อาจไม่ใช่ปืนกระบอกที่ตั้งแสดงอยู่นี้
๒. ในรายงานของพระยาชลยุทธโยธินทร์ (แฟ้ม ก.๑๔/๗๘) ที่กล่าวมาแล้วปรากฏว่ามีปืน HOTCHKISS 37 MM REVOLVING GUN นี้อยู่ทั้งหมด ๗ กระบอก และใน พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น ติดตั้งบนเรือรานรุกไพรี (ดัดแปลงเปลงจากเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ เป็นเรือปืน) ๒ กระบอกในเรือหาญหักศัตรู (ลำที่ ๑ เคยทำการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาใน ร.ศ. ๑๑๒) ๒ กระบอก ในเรือเทวาสุราราม (จัดเป็นเรือปืน ต่อด้วยไม้ในกรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ระวางขับน้ำ ๑๑๕ ตัน) ๒ กระบอก อยู่ที่ "โรงหล่อ" (กรมอู่ทหารเรือ สมัยนั้นเป็นทั้งโรงซ่อมเรือคลังสรรพาวุธ โรงงานทำลูกปืนด้วย) ๑ กระบอก
กรมทหารเรือสั่งปื่นชนิดนี้เข้ามาใช้เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ต้องก่อน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) แน่ เพราะใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ติดตั้งในเรือมกุฏราชกุมาร ๒ กระบอก ดังกล่าวแล้ว ในเรือพระที่นั่งมหารจักรี (ลำที่ ๑) ซึ่งสร้างและติดอาวุธมาจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ไม่ได้ติดปืนชนิดนี้สำหรับปืนยิงเร็ว (QUICK FIRING GUN) ขนาด ๑๒๐/๔๐ มิลลิเมตร ขนาด ๕๗/๔๐ มิลลิเมตร (ปืน ๖ ปอนด์) และขนาด ๓๗/๒๐ (ปืน ๑ ปอนด์) ซึ่งได้สั่งซื้อเข้ามาเปลี่ยนปืนใหญ่เก่าในเรือรบนั้น ได้สั่งเข้ามาในสมัยที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติติวงศ์ทรง "รั้งตำแหน่ง" ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕) (เอกสารรัชกาลที่ ๕ แฟ้ม ก. ๑๔/๔)
ฉะนั้นคำอธิบายปืนชนิดนี้จึงควรเขียนใหม่ว่า "ปืนฮอตช์คิส ๓๗ มิลลิเมตร หมุนได้รอบ (HOTCHKISS 37 MM. REVOLVING GUN) เคยติดตั้งในเรือหลวงมกุฏราชกุมาร (ลำดับที่ ๑) ในการรบกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ใน ร.ศ. ๑๑๒" การที่ตั้งปืนนี้ไว้ใกล้ปืนกลแกตลิงนั้น นับว่าเหมาะสม เพราะเป็นปืนที่ใช้ในสมัยเดียวกัน และยังเคยติดตั้งในเรือรบลำเดียวกัน
ข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ได้จากอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ ก็คือ
๑. ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ที่กองทัพเรือซื้อมาใช้ในกองต่อสู้อากาศยาน ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่นำมาแสดงไว้นั้น ได้ตัดส่วนฐานของปืนออกหมดเหลือแต่แท่น (หรือ "ตอ") ที่รองรับลำกล้องปืน ดูเผิน ๆ คิดว่าเป็น "ปืนเรือ" ส่วนที่ทำให้จำได้คือ "ลูกเลื่อน" ซึ่งเป็นแบบเปิดปิดเอง (SEMI - AUTOMATIC) เช่นเดียวกับปืน ๗๕/๕๑ มิลลิเมตรโบฟอร์สสภาพเดิม ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร นี้ เป็น "ปืนบก" คือมีขาแยกออกไป ๕ ขา และมีหลักสำหรับตรึงกับพื้นในเวลาตั้งยิง เวลาเคลื่อนที่ก็รวบขาเข้าด้วยกันด้านหนึ่ง ๒ ขาอีกด้านหนึ่ง ๓ ขาแล้วหมุน "หะเรีย" ตัวปืนลงมาวางที่ขาเพื่อไม่ให้สูงโงนเงนในเวลาลากไป ฯลฯ แต่ปืนที่นำมาตั้งไว้นั้น ผมคิดว่านักเรียนนายเรือที่เคยประจำปืนนี้ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ มาพบเข้าก็คง "จำไม่ได้" เหมือนกัน เรื่องของปืนนี้จะได้กล่าวถึงในตอนท้ายอีกครั้งหนึ่ง
๒. ลำกล้องของปืนใหญ่ขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร หายไป คิดว่าคงเป็นฝีมือของ "พ่อค้าเศษเหล็ก" แม้จะอยู่ในเขตทหารก็ตาม
๓. ตอร์ปิโดขนาด ๔๕ เซนติเมตร ที่นำมาวางไว้ลูกหนึ่งเป็นตอร์ปิโดที่มี "ครีบข้าง" อย่างเดียว ไม่มีครีบที่ส่วนบนของลูกตอร์ปิโด (สำหรับแขวนตอร์ปิโดในท่อยิง) จึงแน่ใจว่าเป็นตอร์ปิโดแบบ ๔๕ ง. ที่สั่งมาพร้อมกับเรือยามฝั่งลำแรกที่ซื้อจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๖ หรือ เรือหลวงหาญหักศัตรู (ลำที่ ๒) เพราะเรือยามฝั่งที่ซื้อจากอังกฤษ ชุดต่อมาคือเรือยามฝั่งหมายเลข ๓, ๔ และ ๕ นั้น คงจะไม่ได้ซื้อตอร์ปิโดมาด้วย เพราะในเวลาใกล้ ๆ กัน กองทัพเรือได้ซื้อตอร์ปิโดแบบ ๔๕ จ. จากเดนมาร์กมาใช้ ตอร์ปิโดแบบนี้ติดได้ทั้ง "ครีบข้าง" และครีบที่ส่วนบนของลูก เมื่อผมเรียนตอร์ปิโดแบบนี้เมื่อเป็นนักเรียนนายเรือชั้นที่ ๒ ครูอธิบายว่า เพื่อให้ใช้ได้ทั้งกับเรือยามฝั่งและเรือตอร์ปิโด
๔. ปืนใหญ่สนามที่ตั้งไว้ เป็นปืนใหญ่สนามกรุปป์ (KRUPP) ขนาด ๘๗ มิลลิเมตร ที่ซื้อมาในรัชกาลที่ ๕ และใช้เป็นปืนใหญ่ประจำป้อมต่าง ๆ ไม่ใช่ปืนใหญ่ของทหารนาวิกโยธิน ตามบัญชีสรรพาวุธ ฯ พ.ศ. ๒๔๔๔ ปืนชนิดนี้ประจำอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ๒ กระบอก ป้อมผีเสื้อสมุทร ๖ กระบอก ป้อมแผลงไฟฟ้า (พระประแดง) ๘ กระบอก อยู่ที่ภูเก็ต ๑ กระบอก ในเวลานั้น ยังไม่มีทหารพรรคนาวิกโยธิน แม้จะมี "ทหารมะรีน" อยู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า ".....ให้เก็บลูกหมู่มอญขึ้นอีก ก็ยกเป็นทหารมะรีนมีอยู่ร้อยคน ไม่ได้รับราชการอันใด นอกจากรับเสด็จฟากข้างโน้น" สำหรับปืนใหญ่ของกองพันนาวิกโยธิน เมื่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๕ (เดิมเป็นกองร้อยปืนใหญ่) นั้นใช้ปืนใหญ่ภูเขาแบบ ๖๓ หนึ่งกองร้อย และปืนสนามโบฟอร์สขนาด ๗๕/๔๐ มิลลิเมตร ๒ กองร้อย (๘ กระบอก) ปืนใหญ่โบฟอร์สของแบ่งมาจากที่กองทัพบกซื้อ (พบในรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ)
อาวุธที่สมควรนำมาแสดงเพิ่มขึ้นคือ อาวุธที่ใช้ยิงกับข้าศึกมาแล้ว ซึ่งมีไม่มากนัก คือ
- ปืนกลต่อสู้อากาศยานแมดเสนแท่นคู่ขนาด ๒๐ มิลลิเมตร ประจำเรือหลวงสุราษฎร์ ที่ได้ยิงเครื่องบินแบบ บี. ๒๔ ของพันธมิตรที่มาทิ้งทุ่นระเบิดหน้าอ่าวสัตหีบตกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ผมได้เคยสนทนากับเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือได้ทราบว่าบัญชีสรรพาวุธเดิมยังมี อยู่ จึงน่าจะตรวจสอบได้ว่าเป็นปืนหมายเลขอะไร เรื่องยิ่งเครื่อ บี. ๒๔ ตกนี้มีหลักฐานจากคำให้การของนักบินที่ถูกยิงตกว่าถูกลูกปืนกลขนาด ๒๐ หรือ ๒๕ มิลลิเมตรจนไฟไหม้ตกลงในอ่าวสัตหีบเวลานั้นในอ่าวมีเรือหลวงสุราษฎร์ลำเดียว ที่ติดปืนกลนี้และได้ยิ่งต่อสู้เครื่องบิน ผมเป็นนักเรียนรายเรือชั้น ๕ ได้เห็นเหตุการณ์นี้เอง แต่กว่าจะได้หลักฐานยืนยัน เวลาก็ล่วงมาจนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้เขียนเรื่องนี้ให้วารสาร "กระดูกงู" ไปแล้ว
- ปืนใหญ่ขนาด ๗๕/๕๑ มิลลิเมตร ที่มี "แผล" หรือรอยถูกสะเก็ตกระสุนปืนที่ลำกล้อง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นปืนใหญ่ของเรือหลวงธนบุรี หรือเรือตอร์ปิโดใหญ่ที่ทำการรบกับฝรั่งเศสที่เกาะช้าง ปืนใหญ่ขนาด ๗๕/๕๑ มิลลิเมตร มีตั้งแสดงอยู่แล้วแต่ผมไม่ได้ไปดูใกล้ ๆ จึงไม่ทราบว่ามีรอยกระสุนปืนที่ว่านี้หรือไม่
- ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ของกองต่อสู้อากาศยาน ซึ่งได้ยิงต่อสู้เครื่องบินข้าศึกทั้งที่กรุงเทพ ฯ และ สัตหีบ ที่มี "ขาตั้ง" ครบถ้วนซึ่งน่าจะพอหาได้ดังจะกล่าวต่อไป
การชมอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ ทำให้ผมระลึกถึง คุณครูพลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผมรู้สึกว่า ท่านเป็นผู้มีความคิดในเรื่องนี้เป็นคนแรกในกองทัพเรือ
กลาง พ.ศ. ๒๕๐๔ ผมได้รับคำสั่งให้ไปเป็นเสนาธิการสถานีทหารเรือสัตหีบ ผู้บังคับบัญชาของผมคือ พลเรืือโท อนันต์ เนตรโรจน์ ที่ปรึกษากองทัพเรือและรักษาราชการผู้บังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบและรักษา ราชการผู้บังคับการกองการฝึก กองเรือยุทธการ อีก ๒ ตำแหน่ง พลเรือตรี หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ ดิศกุล ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน เป็นรักษาราชการรองผู้บังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบด้วย
ที่บริเวณที่ราบติดกับเนินเขา ตรงทางที่จะเลี้ยวจากถนนริมทะเลขึ้นไปผ่านบ้าน น.๑ และบ้านพักพันจ่า มีปืนใหญ่เก่า ๆ ตั้งอยู่หลายชนิด หลายกระบอก ผมได้แวะเข้าไปดูใกล้ ๆ จึงเห็นว่า เป็นปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ของกองต่อสู้อากาศยานที่ยุบเลิกไปแล้ว ตั้งในท่าตั้งยิงและท่าเคลื่อนย้าย ๘ - ๑๐ กระบอก ปืนใหญ่ ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร โบฟอร์สที่มี รอยถูกกระสุนปืนที่ลำกล้อง ๒ หรือ ๓ กระบอก ปืนใหญ่สนามขนาดโตกว่า ๗๕ มิลลิเมตร (ต่อมาจึงทราบว่าเป็นปืนใหญ่สนามเก่าของป้อม) ปืนใหญ่ขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร และปืนอื่น ๆ อีก ซึ่งเวลานี้นึกไม่ออก
ต่อมา นาวาตรี ทวี ภู่เพ็ชร์ (อดีตนักดำเรือดำน้ำ ต่อมาเป็นนาวาโท) ซึ่งเป็นนายคลังเสบียง กองพลาธิการ (ทำหน้าที่ "เตรียมเสบียง" ที่จะส่งให้แก่เรือ คือ เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ฯลฯ และปลูกผัก) ได้มาขอให้ผมช่วยเรียนผู้บังคับการ ฯ "ขอปืนเก่า" ไปตั้งไว้ที่ในบริเวณที่ "ทำงาน" ของท่านสัก ๑ - ๒ กระบอก เพราะท่านให้เหตุผลว่าได้พยายามทำให้ทหารของท่านมีการฝึกเพิ่มจากการงานปกติ จัดตั้งเสาธงราชนาวีเพื่อทำพิธีธงขึ้นธงลง ฯลฯ ถ้ามีปืนเก่า ๆ ไปตั้งไว้บ้างก็จะดีขึ้น และยังเป็นสถานที่ที่ผู้มาเที่ยวสัตหีบได้ถ่ายรูปกับ "ปืน" เป็นที่ระลึก เพราะในบริเวณสถานีทหารเรือสัตหีบทางด้านอ่าวที่จอดเรือ "ห้ามถ่ายรูป"
ผมจึงนำความไปเรียนคุณครู พลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า
"ตามแผนผังหลัก (Master Plan) ของสถานีทหารเรือสัตหีบที่กำหนดไว้นั้น ต่อไปจะย้ายบ้านพักออกไปนอกบริเวณที่ตั้งบ้านพักในเวลานี้ทั้งหมด เหลือไว้แต่บ้าน น.๑๒ ซึ่งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของผู้บังคับการ ฯ บ้านเดียว เพื่อไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณที่ทำการหรือบริเวณอ่าวโกงกาง (คุณครู อนันต์ ฯ ท่านจะเรียกบริเวณที่มีท่าเทียบเรือในปัจจุบันว่า "อ่าวโกงกาง" ส่วนอ่าวสัตหีบนั้นคือบริเวณหน้าหมู่บ้านสัตหีบ) ซึ่งจะมองเห็นเรือในอ่าวสัตหีบได้ บริเวณบ้านพักที่รื้อออกไปตั้งแต่บ้าน น.๑๓ ไปนั้น ท่าตั้งใจว่าจะทำเป็น "สวนปืน" (Armoury Park) แบบที่ท่านได้เห็นมาในต่างประเทศ โดยจะนำปืนใหญ่เก่า ๆ ที่ "ปลดระวาง" แล้วมาตั้งไว้ ทำบริเวณให้เป็น "สวน" (Park) ให้ผู้ที่มาเที่ยวสัตหีบได้ชมและเป็นที่พักผ่อน โดยไม่เห็นเรือในอ่าวโกงกาง ท่านจึงได้ขออนุมัติ "ปืนเก่า" จากกองทัพเรือมาสะสมไว้ตามที่ผมได้เห็นอยู่แล้ว เพื่อจะได้ตั้งใน "สวนปืน" ท่านจึงไม่อนุมัติให้นำปืนไปตั้งที่บริเวณคลังเสบียง เพราะเห็นว่าปืนเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปเสีย"
คุณครูพลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ ท่านมีความตั้งใจจริงในเรื่องนี้ เพราะในระหว่างที่ผมรับราชการเป็นเสนาธิการสถานี ฯ ท่านได้รายงานขอไฟฉายขนาด ๑๕๐ เซนติเมตร ของกองต่อสู้อากาศยานเดิม ซึ่งกรมอู่ทหารเรือได้ประกาศขายเลหลังเป็นของชำรุดและเหลือใช้ โดยให้ผมเป็นผู้นำรายงานไปติดต่อกับกรมอู่ทหารเรือ และได้รับไฟฉายนี้มา ๒ ดวง นำไปเก็บไว้ที่ใต้ถุนอาคารที่ทำการแผนกพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง อยู่ใกล้ ๆ เรือนจำ ซึ่งท่านคงคิดจะนำไปเข้า "สวนปืน" ในอนาคตของท่าน
ผมย้ายจากสถานีทหารเรือสัตหีบในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากนั้นได้มาราชการที่สัตหีบเป็นครั้งคราวได้เห็น "ปืนใหญ่ขนาด ๙ นิ้ว" อยู่ที่วงเวียนหน้ากองบังคับการ ซึ่งต่อมาผมได้พบหลักฐานว่า ปืนกระบอกนี้เป็นปืนใหญ่ประจำเรือหาญหักศัตรู (ลำที่ ๑) ได้ใช้ยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยาใน ร.ศ. ๑๑๒ ผมได้คัดลอกรายการย่อของปืนจาก "แผ่นทองเหลือง" ที่ติดอยู่ที่ปืนไว้ ต่อมาปรากฏว่าแผ่นทองเหลืองนี้หายไป
ปืนที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาที่คุณครูพลเรือเอกอนันต็์ เนตรโรจน์ ตั้งใจจะนำไปไว้ใน "สวนปืน" ของท่านจะถูกนำไปจากบริเวณนั้นไปไว้ที่ใด เมื่อใด ผมไม่ทราบและไม่ได้ติดตามสอบถาม แต่เชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดนำ "ปืนเก่า ๆ" เหล่านี้ออกไปนอกบริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ แต่ถ้าจะมีการ "ขายเป็นเศษเหล็ก" ไป ก็อาจเป็นไปได้ ผมจึงคิดว่าน่าจะลองค้นหาปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ที่ยังมี "ขาตั้ง" สำหรับยึดปืนและลากปืนในเวลาเคลื่อนที่ มาตั้งแสดงให้ "สมบูรณ์" ได้
สำหรับไฟฉายขนาด ๑๕๐ เซนติเมตรที่กล่าวมานั้น ผมได้เห็นกระจกเงาวงกลมของ ไฟฉายที่ติดอยู่ที่เวทีของสโมสรฐานทัพเรือสัตหีบ เครื่องประกอบอื่น ๆ ที่ขอจากกรมอู่ทหารเรือ มาด้วยกัน คือ แท่นตั้ง ล้อเลื่อน ฯลฯ คงเป็น "เศษเหล็ก" ไปเรียบร้อยแล้ว
หากคุณครูพลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ จักมีญาณวิถีทราบถึง "อุทยานประวัติศาสตร์" นี้ ท่านก็คงจะมีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่งที่ความคิดริเริ่มของท่านเมื่อหลายสิบ ปีมาแล้ว ได้เป็นของจริงขึ้นมาเป็นที่ประจักษ์ของทหารเรือรุ่นลูกหลาน แม้จะไม่ใช่ที่สัตหีบตามความตั้งใจเดิมของท่านก็ตาม
เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ "เกิดขึ้นแล้ว" ผู้รวบรวมจึงต้องศึกษาหรือค้นหาจากหลักฐานที่เห็นว่าเชื่อถือได้ บางเรื่องได้รวบรวมไปแล้ว แต่ต่อมาได้พบหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นอีก ก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องหรือดีขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้จากประวัติศาสตร์ทางเรือของไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "กิจการกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่ ๒" ซึ่งแผนกที่ ๓ กรมเสนาธิการทหารเรือ (กรมยุทธการทหารเรือในปัจจุบัน) ได้รวบรวมพิมพ์ด้วยกระดาษพิมพ์บางและเย็บปกกระดาษแจกจ่ายหน่วยต่าง ๆ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑ ความตอนหนึ่งว่า
"ก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาประมาณ ๒ หรือ ๓ สัปดาห์ กองทัพเรือได้จัด "กองเรือตรวจอ่าว" ในบังคับบัญชาของ นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธร (ต่อมาเป็นพลเรือตรี ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) ประกอบด้วยเรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ และเรือลำเลียง ไปลาดตระเวณกวาด (Sweep) อ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้แล่นตรวจจากก้นอ่าวลงไปจนถึงสงขลา ได้พบเรือสินค้าญี่ปุ่น ๑ ลำ จอดอยู่นอกทะเลอาณาเขต (๓ ไมล์จากฝั่ง) เปิดไฟสว่าง กองเรือไม่ได้ทำการตรวจค้นเพราะอยู่นอกทะเลอาณาเขตและคลื่นลมแรงมาก กองเรือได้แล่นเลี้ยวขึ้นมาสู่บริเวณเกาะช้าง เกาะกูด ฯลฯ"
เรื่องของ "เรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้" ที่ปรากฏในรายงานมีเพียงเท่านี้ ไม่มีหลักฐานว่า เรือลำนี้มาจอดเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด แต่ไม่ใช่เพื่อ "นำทาง" ให้แก่เรือยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เพราะในวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลานั้น ไม่มีเรือลำนี้
ผมรับหน้าที่บรรยายวิชาประวัติการยุทธทางเรือ ในโรงเรียนนายทหารเรือใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้พยายามค้นเรื่องราวเกี่ยวกับการยกพลขึ้นบกและการโจมตีประเทศไทยทั้งของ ฝ่ายพันธมิตรและญี่ปุ่น จากหลักฐานที่มีอยู่ในเวลานั้นคือ หนังสือ The War At Sea ของอังกฤษ รายงานการสอบสวนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นหนังสือประวัติการยุทธของ กองทัพเรืออังกฤษ (Battle Summary) รายงานของนายพลเพอร์ซิวาล แม่ทัพบกอังกฤษในมลายู (เกี่ยวกับการบุกประเทศไทย) ฯลฯ ได้รวบรวมเป็นคำบรรยายได้ ๒ เล่ม และไม่พบเรื่องราวของเรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้
ผมได้ไปศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรืออังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พยายามค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อมีเวลาว่างจากห้องสมุดของโรงเรียน จาก Battle Summary ที่มีอยู่มากกว่าในห้องสมุดของโรงเรียนนายทหารเรือของเรา จากวารสารทหารเรือสมัย ค.ศ. ๑๙๔๔ - ๑๙๔๕ ฯลฯ ได้พบนายทหารเรือที่มาทำการโจมตีภูเก็ต กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ก็ไม่ได้รายละเอียดมากนัก เพราะท่านจำไม่ได้ผมได้รายงานขอให้ท่านผู้ช่วยทูตทหารเรือ (พลเรือจัตวา อภัย สีตะกลิน ต่อมาเป็นพลเรือเอกถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) ขอซื้อหนังสือ Battle Summary ที่ยกเลิกชั้นความลับแล้วทั้งหมด จากทบวงทหารเรืออังกฤษ ท่านได้รับตอบว่าไม่สามารถขายให้ทั้งหมดได้ แต่ให้ระบุเรื่องที่ต้องการเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อไม่มีบัญชีชื่อเรื่องของ Battle Summary ผมจึงได้แต่จดรายการเรื่องที่มีอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ อังกฤษให้ท่าน และก็ได้รับมาตามที่ขอซื้อ (ไม่มีเรื่องการโจมตีภูเก็ต)
ผมต้องบรรยายวิชาประวัติการยุทธ์ในโรงเรียนนายทหารเรืออีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้ปรับปรุงหัวข้อการบรรยายตามแบบที่ได้เรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหาร เรือ และโรงเรียนยุทธวิธีของอังกฤษ หลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นคือหนังสือ The War Against Japan Vol.3 และหนังสือที่นายทหารเรืออังกฤษเขียนจากประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของตนเอง แต่ครั้งนี้ได้แต่เขียนเป็น "คำบรรยาย" ได้เพราะเวลามีไม่พอ แม้จะได้รายละเอียดเกี่ยวกับกำลังญี่ปุ่นที่ทำการยกพลขึ้นบกในอ่าวไทยทั้ง ทางบกและทางเรือมากขึ้น ก็ยังไม่พบเรื่องของ "เรือสินค้าญี่ปุ่นที่มาจอดเปิดไฟสว่าง" ที่สงขลา
เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้ ผมได้ซื้อหนังสือเก่าจากแผงลอยที่บริเวณนอกรั้วท่าราชวรดิฐเล่มหนึ่ง คือ "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี ประสิทธิ์ศิลป์ สัมพันธยุทธ" และได้ทราบเรื่องของเรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้
พลตรีประสิทธิศิลป์ สัมพันธยุทธเล่าไว้ในหนังสือว่า เมื่อใกล้จะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาใน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ท่านรับราชการเป็นผู้บังคับกองร้อยในกองพันทหารที่สงขลา ทุกคนได้คอยฟังเรื่องของสงครามทางวิทยุกระจายเสียงซึ่งมีข่าวว่า กองเรือญี่ปุ่นได้เดินทางมาสู่อ่าวไทยแล้ว ขณะนั้นมีเรือสินค้าญี่ปุ่นมา จอดเปิดไฟสว่างอยู่ในทะเลนอกเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ต่อมาก่อนญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบก ๓ - ๔ วัน ญี่ปุ่นได้เชิญนายทหารในกองพันตรวจสอบกับทางจังหวัดก็ได้ทราบว่าญี่ปุ่นได้ เชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตั้งแต่ข้าหลวงประจำจังหวัดลงมา ผู้บังคับกองตำรวจ ฯลฯ ไปรับประทานอาหารในเรือเช่นเดียวกัน ท่านกับผู้บังคับกองพันของท่านได้ปรึกษากันเห็นว่าขณะนั้นสถานการณ์ไม่น่า ไว้วางใจ ถ้าผู้บังคับบัญชาไปอยู่บนเรือญี่ปุ่นเสียหมด ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะไม่มีผู้สั่งการในกองพันของท่าน จึงตกลงกันว่าจะไม่ไปตามคำเชิญทั้งหมดแต่จะแบ่งกันไป ให้มีผู้บังคับบัญชาเหลืออยู่ พอที่จะสั่งการใช้กำลังทหารได้ เมื่อถึงวันกำหนดเชิญ ปรากฏว่าคลื่นลมจัดมาก ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งเรือเล็กมารับ "ผู้รับเชิญ" ที่ชายฝั่ง (แหลมสมิหรา) ได้ จึงไม่มีผู้ใดไป วันรุ่งขึ้นญี่ปุ่นได้ส่งผลไม้มาแจกจ่ายให้แก่ "ผู้รับเชิญ" ทุกคนแล้วเรือสินค้าญี่ปุ่นก็ออกไปจากชายฝั่ง หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่สงขลา
ข้อเขียนของ พลตรี ประสิทธิ์ศิลป์ สัมพันธยุทธ ทำให้เข้าใจเจตนาของญี่ปุ่นที่นำเรือมาจอดที่นอกฝั่งสงขลาได้ดี ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ "มืดมน" มากว่า ๔๐ ปี ถ้าพลตรี ประสิทธิ์ศิลป์ ฯ ไม่เขียนไว้ ก็คงต้อง "เดา" เรื่องนี้ต่อไปอีก
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จึงต้องไม่ท้อถอยและพยายามแก้ไขเพิ่มเติมตาม ข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมตลอดเวลา เรื่องที่ทำไว้แล้วก็ไม่ถือว่าบกพร่อง เพราะได้ทำตามหลักฐานที่ได้พบแล้วเท่านั้น
ผมขออุทิศส่วนดีของเรื่องนี้้บูชาพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหา ราช องค์บิดาของกองทัพเรือ ส่วนข้อบกพร่องต่าง ๆ นั้น ผมขอรับผิด และยินดีรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือค้นคว้าเพิ่มเติมได้มากกว่านี้
ที่มา : พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช : นาวิกศาสตร์ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑ - ๑๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น