วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นานาวิกาสารา ๔๕๑

นานาหนึ่ง เปลี่ยนได้ครับ


เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสหรัฐ ฯ เอง ๓ ลำ บินเข้าชนตึกศูนย์การค้าในนครนิวยอร์กและตึกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ใน ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้เพียง ๓ วัน ประธานาธิบดีบุช ได้ประกาศศึกไล่ล่าผู้ก่อการร้าย ซึ่งในการปฏิบัติการทางทหารประกาศออกมาว่าชื่อ  Operation Infinite Justice  ไม่รู้ว่าจะแปลเป็นไทยให้ชื่อปฏิบัติการนี้ว่าอย่างไรดี มันออกสำเนียงคล้ายว่าเป็นการปฏิบัติการค้นหาความถูกต้องอันยาวนานหรืออย่าง ไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ทำท่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะการไล่ล่าหาตัวผู้ก่อการร้ายผู้ช่ำชองทำงานร้าย ๆ มานาน ย่อมใช้เวลานานอย่างแน่นอน ไม่เหมือนสงครามอ่าว  Gulf War  กรณีอิรักรุกรานคูเวตเมื่อ ๑๐ ปีมานี้ ที่ใช้เวลาเดือนเดียวก็ขับไล่พวกอิรักออกจากคูเวตไปได้

อย่างไรก็ดี เมื่อประกาศชื่อ  Operation Infinite Justice  ออกมาได้เพียง ๓ วัน โฆษกของ สภาความสัมพันธ์อเมริกัน - อิสลาม  (Council On American Islamic Relations)  ได้ออกมาแถลงติงว่า  Infinite Justice  เป็นพระกฤษฎาของพระผู้เป็นเจ้า  (The Prerogative Of God)  ผู้ทรงไม่ประสงค์ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำการในลักษณะล้างแค้นเคียดแค้น โดยปกติของสหรัฐ ฯ การปฏิบัติการทางทหารจะมีชื่อตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอต่อประธานาธิบดีถ้า ด้านอื่น อย่างปฏิบัิติการทางมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องที่กระทรวงอื่น เช่น กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เสนอ คนที่คิดคำ  Infinite Justice  ก็เป็นคนในฝ่ายเสนาธิการหรือฝ่ายอำนวยการในกระทรวงกลาโหมนั่นเอง ที่คงประมวลคำแถลงอันแข็งกร้าวของประธานาธิบดีในการไล่ล่าทำศึกกับผู้ก่อการ ร้าย เข้ากับลักษณะงานที่คงยาวนานเป็นคำสั้น ๆ ว่า  Infinite Justice  อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ฯ  Donald Rumsfeld  เมื่อได้ยินคำท้วงติงจาก  Council  ซึ่งเป็นสถาบันเอกชนธรรมดา ๆ ก็ได้เปลี่ยนชื่อทันทีจาก  Infinite Justice  เป็น  Operation Enduring Freedom  ออกกลิ่นไปทางสันติภาพอันยั่งยืน


อันคำว่า  Operation  ในทางทหารที่แปลกันออกมาว่า ปฏิบัติการหรือยุทธการ นี้ ก็ไม่ทราบว่ามีใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ไทยรบกับพม่าหลายครั้ง ตั้งแต่เมืองเหนือเชียงใหม่ลงมาถึงกาญจนบุรี แม้ครั้งศึกเก้าทัพสงครามใหญ่ก็ดี ไม่มีการกล่าวถึงการปฏิบัติการสักครั้ง การสงครามไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ ๘ ที่เกิดการรบทางเรือที่เกาะช้างก็ยังไม่มีอีก ทางยุโรปที่เป็นเจ้าของคำ  Operation  ใช้คำนี้กันเมื่อใดไม่ทราบ แต่ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีใช้แล้ว เช่น  Operation Barbarossa  ของเยอรมัน เป็นการยกกองทัพรุกเข้าไปในรัสเซียที่เป็นปฏิบัติการที่ใหญ่มาก  Operation Torch  ที่เป็นการยกพลขึ้นบกของกองกำลังผสมอังกฤษ - สหรัฐ ฯ ที่แอฟริกาเหนือ เป็นต้น   Churchill  นายยกรัฐมนตรีอังกฤษ ในช่วงเวลาสงครามโลกกล่าวไว้ว่า การให้ชื่อ  Operation  ที่เป็นรหัสคำนั้น ไม่ควรเป็นนัยให้เกิดอารมณ์ฮีกเหิมและเชื่อมั่นเกินเหตุ  (.....ought not to be described by code words which imply a boastful and overconfident sentiment.)

ผู้เขียนรู้จักและได้สัมผัสคำ  Operation  เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นเรือโท ในการฝึกลาดตระเวนสะเิทินน้ำสะเทินบกของ  SEATO  ที่ชายฝั่งจังหวัดระยอง ในนาม  Operation Teamwork II  ที่มี ๔ ชาติเข้าร่วมฝึก บ่งบอกถึงการร่วมกันทำงาน ก่อนหน้านั้นมี  Teamwork I  ซึ่งเป็นการฝึกยกพลขึ้นบกที่ชายหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นการฝึกของ  SEATO  เช่นกัน หลังจาก  SEATO  สลายตัวไป ทหารไทยก็มีการฝึกกับต่างชาติแบบตัวต่อตัว อย่างกับสหรัฐ ฯ ในปฏิบัติการ  COBRA GOLD  และ  KARAT  เป็นต้น ชื่อปฏิบัติการสำหรับฝึกจะตั้งชื่ออย่างใดไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าการฝึกเกิดทำให้คนที่สามไม่พอใจ เช่น เกาหลีเหนือ ไม่พอใจการฝึกระหว่างสหรัฐ ฯ กับเกาหลีใต้ที่มีขึ้นเป็นประจำ ก็จะมีการประท้วงกันเป็นครั้งคราว สำหรับ  Infinite Justice  เป็นการปฏิบัติจริง และจะเป็นการปฏิบัติที่ใหญ่โตกว้างขวาง ยืดยาว แต่กลายเป็นชื่อที่เปลี่ยนไป หลังจากประกาศให้โลกรู้ได้เพียง ๓ วัน ถ้ารัฐมนตรี รัมส์เฟลด์ ผู้รับผิดชอบกำลังทหารที่ทรงอำนาจในโลกยืนยันจะใช้ปฏิบัติการเดิมก็คงทำได้ เพราะเสียงท้วงติงแผ่ว ๆ มาเท่านั้น นานานี้ เป็นตัวอย่างให้รู้วา เมื่อคิดอะไร ทำอะไร ทกำหนดอะไรลงไปแล้ว ถ้าเกิดไม่เหมาะสมขึ้นมาเปลี่ยนได้ครับ


นานาสอง งานนี้งานของใคร

ในช่วงเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารเรือญี่ปุ่นจัดตั้งกองบินกามิกาเซ ใช้นักบินขับเครื่องบินลำเล็ก ๆ เก่า ๆ พุ่งเข้าชนเรือรบสหรัฐ ฯ เป็น "ยุทธวิธีสุดท้าย" ที่ญี่ปุ่นคิดว่าน่าจะทำความเสียหายให้แก่ทหารเรือสหรัฐ ฯ ได้มากที่สุด ญี่ปุ่นสดุดีนักบินทหารพลีชีพนำเครื่องบินไปทำร้ายข้าศึก่าวีรบุรุษ ทางสหรัฐ ฯ ที่เรือรบลำน้อยเสียหายจมไปหลายสิบลำ ไม่รู้ว่าจะเรียกนักบินผู้กล้าหาญชาวญี่ปุ่นพวกนั้นว่าอย่างไรดี เพราะพวกเขาเป็นทหารกระทำการในสงครามยอมพลีชีพเพื่อชาติและราชนาวี (ญี่ปุ่น)

๕๐ ปีต่อมา จากตำนานของนักบินกามิกาเซ เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ ๓ ลำของสายการบินภายในประเทศสหรัฐ ฯ ที่แต่ละลำมีคนนับร้อย มีน้ำมันเชื้อเพลิงนับแสนลิตร ถูกกลุ่มคนจี้บังคับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกศูนย์การค้า ๒ หลัง ในนครนิวยอร์ก และตึงทรงห้าเหลี่ยนมกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใน ๑๑ กันยายน ฑ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งทางการสหรัฐ ฯ บอกว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายในทันที

ก่อนเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น ในทางบกช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีนักก่อการพลีชีพเกิดขึ้นมากมาย ตามพื้นที่อันมีความขัดแย้งตามส่วนต่าง ๆ ของโลก ด้วยการใช้พาหนะแล่นเข้าชนเป้าหมาย หรือใช้ตัวตนเองติดวัตถุระเบิดพลีชีพระเบิดเป้าหมายโดยผู้กระทำการยอมตายไป ด้วย เป้าหมายเป็นตึกขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รถบัส บุคคลสำคัญ ศูนย์การค้า ฯลฯ สุดแต่ผู้กระทำการจะเลือกขึ้นมาว่าจะเอาอะไรเป็นเป้า


ในทางน้ำ ทางทะเล ก็มีเช่นกัน โดยผู้กระทำการพลีชีพนับตั้งแต่ในสงครามโลกมีการใช้เรือขนาดเล็กความเร็วสูง แล่นเข้าชนเป้าซึ่งผู้กระทำเป็นทหารและได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ ภายหลังสงครามโลกการใช้เรือเล็กลอบทำร้ายเรือใหญ่ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างพวกพยัคฆ์ทมิฬ ใช้กับเรือของทหารเรือศรีลังกา ใครก็ไม่รู้ใช้กับเรือฟริเกตสหรัฐ ฯ ชื่อ  Cole  ระหว่างจอดอยู่ในเมืองท่าเยเมนที่ตะวันออกกลางใน พ.ศ. ๒๕๔๓ แต่ยังไม่มีการเกิดเหตุการณ์เรือเิดินทะเลขนาดหลายหมื่นตันหรือนับแสนตันถูก นำแล่นเข้าชนเป้าหมายในท่าเรือสำคัญ ๆ ของโลกที่เรียงรายไปด้วยคลังสินค้า เรือสินค้า กลุ่มถังน้ำมันขนาดมหึมา อู่เรือ ฯลฯ ยังไม่มีอย่างนี้

ไม่มีใครนึกถึงการใช้เครื่องบินสำใหญ่บินเข้าชนตึก ที่ยอดคนตายและสูญหายเหยียบหมื่นคน แต่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เรือเดินทะเลสำมหึมายังไม่ได้ถูกใช้ไปถล่มทลายท่าเรือหรือเมืองติดท่าเรือ แต่มันเป็นไปได้ และมีคนนึกถึงอยู่ ผู้ที่นึกถึงและทำงานป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ได้แก่ หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ  U.S. Coast Guard  ที่ได้กระทำการตามหน้าที่ของตนอย่างฉับไวและเข้มงวดภายหลังตึกถูกถล่ม

หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในนาม  Revenue Marine  ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ หรือ พ.ศ. ๒๓๓๓ (ตรงกับกลางรัชสมัยรัชกาลที่ ๓) งานขแงแต่ละหน่วยสมัยแรก ๆ เป็นงานรักษาความปลอดภัย และการศุลกากรในทะเล เพราะเวลานั้นมีโจรสลัดและการหลีกเลี่ยงภาษีทางทะเลอยู่มาก งานมีมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันแบ่งงานได้หลายอย่าง นับตั้งแต่การรักษาและบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเกี่ยวกับการประมง การลักลอบเข้าเมือง การป้องกันยาเสพติด การช่วยเหลือช่วยชีวิตทางทะเล โจรสลัด โจรภัย ไปจนถึงการป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางอย่าง งานดูแลรักษาเครื่องช่วยการเดินเรืออย่างที่กรมอุทกศาสตร์ทำอยู่ งานรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมลพิษในท่าเรือและน่านน้ำอาณาเขต งานรักษาความปลอดภัยทางทะเลของเรือต่าง ๆ ในน่านน้ำ เรือสำราญ ชายหาดท่องเที่ยว และงานที่เกี่ยวข้องกับนานานี้ เรื่องนี้ คืองานความปลอดภัยของท่าเรือ  Port Safety


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ เน้นงานไปที่ความปลอดภัยของท่าเรือ และทางน้ำภายใน ตั้งแต่ใต้สุดบริเวณอ่าวแม็กซิโก ไปจนถึงเหนือสุดที่  Great Lake  ติดกับแคนาดา ทุกปีจะมีเรือจากต่างประเทศประมาณ ๑๐,๐๐๐ ลำ เข้ามายังท่าเรือสหรัฐ ฯ ราว ๖๘,๐๐๐ เที่ยวแต่เดิมเรือเหล่านี้ต้องแจ้งรายชื่อลูกเรือแก่หน่วยยามฝั่งล่วงหน้า ก่อนเข้าท่าเรือ ๒๖ ชั่วโมง ได้ถูกเปลี่่ยนเป็นล่วงหน้าถึง ๙๖ ชั่วโมง เรือน้ำมัน เรือบรรทุกวัตถุเคมีวัตถุเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพ และแผ่รังสีจะถูกตรวจค้นอย่างละเอียด ภายหลังการตรวจค้นแล้ว เรือที่มีสินค้าเหล่านี้ยังถูกเรือของหน่วยยามฝั่งติดตามเฝ้าดูตลอดเวลา พลสำรองบางส่วนของหน่วยยามฝั่งถูเรียกประจำการ ในสภาสูงสหรัฐ ฯ มีการพิจารณางบประมาณเพื่อการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือถึง ๓.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ นช่วงเวลา ๕ ปีข้างหน้า แม้กระนั้นก็ตาม หน่วยยามฝั่งยอมรับว่าไม่อาจตรวจตราเรือทุกลำได้ ซึ่งกระทำได้เพียงสุ่มตัวอย่าง และพยายามป้องกันไม่ให้เกิดวินาศกรรมขนาดใหญ่ในท่าเรือและทางน้ำภายในที่ สำคัญ ๆ เท่านั้น

หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ มีเรือเป็นของตนเอง นับตั้งแต่เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก ไปจนถึงเรือใหญ่ขนาดเรือฟริเกต บางลำมีดาดฟ้าให้เฮลิคอปเตอร์ลงได้ คนของหน่วยมีเครื่องแบบของตนเอง ยามปกติหน่วยทำงานให้แก่กระทรวงการขนส่ง  (Transportation)  ในยามสงครามจะร่วมทำงานกับกองทัพเรือ ในส่งครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง แม้กระทั่งสงครามเวียดนาม หน่วยยามฝั่งทำงานคู่เคียงกับทหารเรือนับตั้งแต่การป้องกันกองเรือลำเีลียง การตรวจการณ์เรือดำน้ำ การลำเลียงพลในการยกพลขึ้นบก การช่วยชีวิตในทะเล ฯลฯ มีหลายประเทศจัดตั้งหน่วยยามฝั่งของตนตามอย่างสหรัฐ ฯ เช่น อินเดีย จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ในชั้นแรกเอาตัวรองผู้บัญชาการทหารเรือ  (Deputy Chief Of Naval Staff)  ยศพลเรือโทเป็นผู้บัญชาการหน่วย และโอนทหารเรือบางส่วนมาอยู่หน่วยใหม่ มีเครื่องแบบของตนเอง หรือเรือและเครื่องบินโอนส่วนหนึ่งมาจากทหารเรือ ปัจจุบันหน่วยยามฝั่งอินเดียมีเรือและเครื่องบินอันทันสมัยไม่แพ้ใคร มีงานในหน้าที่ใกล้เคียงกับหน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ การรักษาความปลอดภัยทางน้ำของท่าเรืออินเดีย ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยยามฝั่ง


ทางเมืองไทยได้เข้มงวดในการป้องกันการก่อการร้ายเช่นกัน ทางทหารมีข่าวใน ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นทั่วไปว่าจะจัดเงินจำนวน ๘๐ ล้านบาท จัดตั้งกองพันต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นในทั้ง ๓ กองทัพ เพื่อจัดหาอาวุธและอุปกรณ์สำหรับเพิ่มความสามารถสู้กับการก่อการร้ายในระยะ ยาวอาจเพิ่มถึง ๘ กองพันเพื่อขยายขอบเขตงานให้มากขึ้น กองพันนี้ดูจะเป็นหน่วยรบพิเศษที่อาจเดินทางไปยังที่หมายได้ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ซึ่งคงจะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้เผชิญหน้าคนร้าย ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรจะเจอคนร้ายผู้ทำงานลับ ๆ สำหรับงานรักษาความปลอดภัยท่าเรืออย่างที่หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ กระทำอยู่อย่างขะมักเขม้นเวลานี้เป็นของใครในเมืองไทย ตำรวจน้ำ ศุลกากร การท่าเรือ เจ้าท่า กองเรือป้องกันฝั่ง ? 

นานาสาม ไฮเทคเล็ก ๆ 

ก่อน ที่เครื่องบินโดยสาร ๓ ลำ จะบินชนตึกในนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ตลอดจนลำที่ ๔ ซึ่งบินตกดินเสียก่อนจะถึงเป้าหมายเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น ผู้โดยสารบางคนในเครื่องบินโชคร้ายใช้โทรศัพท์มือถือบอกเหตุการณ์ให้ญาติ มิตรข้างล่างทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้คนนับพันที่ติดอยู่ใต้ตึกซึ่งพังถล่มจากการโดนเครื่องบินชนก็ใช้ โทรศัพท์อันเล็ก ๆ นั้นเช่นกัน ตามข่าวที่ทราบกันอยู่ ประโยคสุดท้ายที่ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นมักพูดออกมาคือ  I Love You
เมื่อ ๒๐ ปีก่อนนี้ ผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างอยู่ในอากาศไม่มีทางที่จะติดต่อกับใครได้จนกว่า จะถึงจุดหมายปลายทางคล้าย ๆ กับสมัยผู้เขียนเป็นนักเรียนออกฝึกภาคทะเลเมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว ออกไปแล้ว ออกไปเลย เดือนกว่าหรือสองเดือน อย่างดีก็เขียนจดหมายถึงบ้านโดยไม่ได้หวังจะได้รับตอบ แต่ปัจจุบันนี้เรื่อในทะเลเมื่อเดินใกล้ฝั่งหรือเกาะที่มีสถานีถ่ายทอด สัญญาณ คนบนเรือสามารถติดต่อกับใครก็ได้ สร้างเครือข่าย  Ship To Shore  โดยไม่ต้องง้อเรือ เผลอ ๆ จะดีกว่าเครื่องมือสื่อสารของเรือด้วยซ้ำไป ไม่น่าเชื่อว่าเพียงชั่วเวลาไม่กี่ปีวัตถุอันเล็ก ๆ ในมือจะใช้ติดต่อกันได้ แทบทั่วโลกในทันทีแบบที่พูดกันว่าเพราะไฮเทค

แต่บางทีไฮเทคไม่กระจายไปทั่วโลก หรือบางแห่งไม่ไฮเทคด้วย หรือไฮเทคด้วย หรือไฮเทคไม่เป็นก็อาจทำเรื่องไม่เป็นเรื่องขึ้นได้อย่างข่าว  Sydney, AFP ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ออกข่าวว่าเรือยอนาฬิชต์ขนาด ๒๓ เมตร ชื่อ  Ombak Indah  เช่าเหมาลำโดยนักทัศนาจร ๑๐ กว่าคน เครื่องยนต์เสียขณะทะเลมีคลื่นสูง ๔ เมตร ระหว่างเกาะบาหลีกับลอมบอกของอินโดนีเซีย ทางเรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครตอบ ในที่สุดคุณ  Rebecca  ก็ใช้โทรศัพท์มือถือโทรถึงคู่รักในอังกฤษว่า "ติดต่อยามฝั่งที่แฟลมัธ เราต้องการความช่วยเหลือ  SOS"
ปรากฏว่าคุณคู่รัก  Hodgson  รับโทรศัพท์ได้แล้วแจ้งไปยังแฟลมัธ ทางแฟลมัธติดต่อไปทางอินโดนีเซีย แต่ต่อไม่ติดเพราะเหตุใดไม่แจ้ง แฟลมัธจึงติดต่อไปยังศูนย์ค้นหาและกู้ภัยของออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา ซึ่งต้องอาศัยสถานทูต จึงส่ง  SOS  ไปยังกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียได้เรือปืนของทหารเรืออินโดนีเซียได้ เรือปืนของทหารเรืออินโดนีเซียที่ลอมบอก จึงไปช่วยเรือและคนพ้นภัยมาได้ - เกือบไป

อีกกรณีคล้ายกันกับข้างต้น แต่เจ้าตัว - คิดไม่ออกบอกไม่ถูกมากกว่า คือนายแอชตัน สมิธ อาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เอาเรือแคนูทำด้วยหนังแมวน้ำ  (Kayak)  ไปพายเล่นในทะเลใกล้เกาะเล็ก ๆ Isle Of Wight  ทางตอนใต้ของอังกฤษเรือเกิดพลิกคว่ำ ซึ่งคุณสมิธปล้ำอยู่นานก็ไม่อาจกู้เรือให้หงายได้ อาจารย์หนุ่มบอกว่าใช้สมองคิดอยู่หลายนาทีว่าจะบอกใครให้มาช่วย แล้วก็คิดถึงน้องสาวกับพ่อ จึงโทรศัพท์ถึงพ่อ คุณพ่อซึ่งกำลังเป็นครูทหารอยู่ที่ดูไบห่างจากที่เกิดเหตุถึง ๕,๖๐๐ กิโลเมตร ตกใจ และแปลกใจ แล้วแจ้งข่าวไปยังหน่วยยามฝั่งที่อังกฤษ ซึ่งปรากฏว่าหน่วยอยู่ห่างจากคุณสมิธไม่ถึงหนึ่งไมล์ จึงได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวมาอย่างปลอดภัยอย่างนี้ก็มี


กรณีทั้งสองดังกล่าวแล้ว ออกอาการว่า คนไฮเทคกับไม่ไฮเทคยากจะไปด้วยกัน และคนไฮเทคแต่สติแตกก็เหมือนกับคนไม่ไฮเทค

โทรศัพท์มือถือที่คนอยู่บนเครื่องบินใช้พูดกับคนที่อยู่พื้นดินข้างล่างได้ ก็ดี ใช้พูดกับผู้รับที่อยู่ห่างไกลถึงครึ่งโลกได้ก็ดี เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้งอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกเป็นเหมือนหีบเหล็กหิ้วกันไหล่เอียงติดต่อกันได้แคบ ๆ ใกล้ ๆ ปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ เบาห้อยหูได้ แต่ติดต่อไปได้ไกลกว้างขวางเกือบทั่วโลก เหมือนกับการหาที่เรือแต่ก่อนต้องวัดแดดวัดดาว เปิดสมุทรคำนวณกันอีก ทุกวันนี้ใช้ระบบจากดาวเทียมรู้ตำบลที่เรือในทันที ยิ่งกว่านั้น ยังมีขนาดเล็กที่เป็นทั้งนาฬิกาข้อมือและระบบ  GPS  ในตัว  (Global Positioning System)  ที่คนขับเรือยามข้ามฟากแม่น้ำก็ใช้ได้


นาฬิกาแบบนี้มีไว้ในเรือหลวงเผื่อเหลือเผื่อขาดในการหาที่เรือก็น่าคิด หรือย่างโซน่าร์สำหรับค้นหาเรือดำน้ำก็ดี หาทุ่นระเบิดก็ดี ล้วนแต่มีขนาดใหญ่โต กินพื้นที่ ราคาแพง ปัจจุบันมีโซน่าร์ ค้นหาฝูงปลาที่มีตัวเซนเซอร์และจอภาพกราฟฟิกของฝูงปลา ตัวเครื่องมีน้ำหนักรวมเพียง ๔๑๕ กรัม ออกวางขายแล้ว ราคา ๒๕,๐๐๐ เยน ใครจะไปรู้ว่าโซน่าร์หิ้วได้ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้อาจตรวจหาทุ่นระเบิดบริเวณน้ำตื้นหรือปากแม่น้ำก็ได้ เพื่อถนอมเครื่องชุดใหญ่ ราคาแพง ให้มีอายุใช้งานได้นานขึ้น มันอยู่ที่ไม่ลองไม่รู้
ไฮเทคแบบเล็ก ๆ อาจฃ่วยงานใหญ่ได้ 

นานาสี่ ไม่ไฮเทค  

ผู้เขียนยังจำได้จนบัดนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นนายทหารเด็ก ๆ ได้พบเรือเอก บุญสม  ชื่นวงษ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นต้นปืนเรือโพสามต้น บริเวณท่าราชวรดิฐ (บุญสม เป็นนักเรียนรุ่นน้อง ๒ - ๓ ปี ทราบว่าลาออกจากราชการไปอยู่ในสหรัฐ ฯ นานแล้ว) ถามไถ่บุญสม ในวันนั้นว่าไปไหนมา บุญสมบอกว่าไปที่คลองถมเพื่อจะไปหาซื้อแผ่นไดเอแฟรมที่เป็นยางแบนรูปกลม สำหรับใช้กับเครื่องไฮดรอลิกหันปืนใหญ่ของเรือ แผ่นยางนี้ไม่มีอะไหล่ จึงเอาไปเป็นตัวอย่างเทียบเคียงกับของที่มีขายอยู่ที่คลองถม ผู้เขียนฟังแล้วก็นับถือเขาและคิดว่า เป็นไปได้ที่ปืนใหญ่เรือโพสามต้นจะหันปืนได้ เพราะต้นปืนไปเดินท่อม ๆ หา ของอะไหล่จากร้านที่ขายเครื่องจักร เครื่องกลของชาวบ้าน ถ้าแผ่นไดอะแฟรมยางที่คลองถมมีขนาดและรูปร่างเหมือนของจริงน่าจะใช้หันปืน ได้ เพียงแต่อาจหันปืนได้ช้าไปบ้าง หรือยางมีอายุไม่ทนทาน แต่ผู้เขียนไม่พบเรือเอกบุญสม ฯ อีก จึงไม่ทราบว่าของที่คลองถมใช้กับปืนใหญ่บนเรือรบได้หรือไม่


ข้อคิดที่ได้จากเรือเอก บุญสม ฯ ซึ่งอาจถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอาจนำของที่ชาวบ้านใช้อยู่มาแทนที่ไฮเทค บ้างก็ได้ ภาพทหารบกไทยขี่จักรยาน ๒ ล้อที่นอกจากมีอาวุธประจำกายแล้ว ยังมีปืน ค. ขนาด ๖๐ มิลลิเมตร พร้อมกระสุนหิ้วติดรถไปด้วย แสดงความไม่ไฮเทค แต่เหนือชั้นทางความคิดทีเดียว รถจักรยานนั้นเคลื่อนที่ได้อย่างเงียบเชียบ ไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปได้เร็วกว่าเดิน ยิ่งเป็นจักรยานแบบเสือภูเขาแล้วยิ่งดี รถจักรยานอย่างนี้จะใช้ในบางภูมิประเทศได้ดีกว่ายานยนต์อื่นด้วยซ้ำไป การใช้จักรยานในการเคลื่อนที่อาจใช้รวมพลได้ถึงระดับกองทัพทีเดียว ดังที่กองทัพญี่ปุ่นกระทำมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กล่าวคือ ก่อนที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลก กองทัพญี่ปุ่นได้รุกยึดได้จีนบางส่วน แมนจูเรีย และคาบสมุทรเกาหลีไว้แล้ว เมื่อถูกฝ่ายตะวันตกคว่ำบาตรและปิดล้อมทางเศรษฐกิจก็ตัดสินใจจะแหวกวงล้อม แต่จะแหวกต่อไปทางเหนือหรือลงใต้มาทางทะเลจีน ในที่สุดจะลงใต้ตีวงเป็นมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเมื่อต้องพิจารณาการเคลื่อนที่ของกองทหารในภูมิประเทศเอเชียตะวันออก เฉียงใต้แล้ว เห็นว่าใช้จักรยาน ๒ ล้อ ดีที่สุด ใช้ม้าจะลำเลียงทางเรือลำบาก และต้องหาอาหารให้ ใช้ยานยนต์ก็เปลืองเชื้อเพลิงและเส้นทางไม่ดี ทหารราบญี่ปุ่นจึงมีรถจักรยานที่สามารถไปรวมพล ณ ตำบลที่ ตามต้องการได้ รุกผ่านมาเลเซียลงไปยังสิงคโปร์ ตลอดจนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า มุ่งอินเดีย


อีกภาพหนึ่งเป็นภาพรถไถบุลโดเซอร์ ถูกดัดแปลงเป็นรถถัง มีหอรบติดปืนกลหนักข้างบน มีห้องสำหรับหมู่รบ มีสายพานและแรงขับเคลื่อนไปไหนไปกันได้เหมือนรถถัง รถคันนี้ดัดแปลงโดยกองกำลัง  Malaita Eagle  ในการต่อสู้กับขบวนการ  Isatabu Freedom  ใกล้เมืองฮอนตารา เพราะขบวนการไอซาตาบูไม่ยอมรับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของโซโลมอน


และอีกภาพหนึ่งเป็นรถกระบะ  Ford F - 350  ที่ทหารบกสหรัฐ ฯ ดัดแปลงเป็นรถต้นแบบสำหรับงานต่อสู้ผู้ก่อการร้าย ควบคุมฝูงชน ลาดตระเวณชายแดน ซึ่งเป็นงานทางรับมากกว่าทางรุก ทั้งนี้รถทหารแบบฮัมวีย์ที่ใช้อยู่ราคาแพง และสมรรถนะสูงเกินไปสำหรับงานจำพวกนี้ การดัดแปลงรถกระบะขับเคลื่อน ๔ ล้อ ทำได้หลายอย่างตามต้องการ เช่น ใช้กระจกกันกระสุนคิดกล้องส่องกลางคืน ติดเครื่องมือสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ราคารถฮัมวีย์ ๑ คันจะเท่ากับรถแบบนี้ ๓ - ๔ คัน ภายหลังการก่อวินาศกรรม เครื่องบินชนตึกในสหรัฐ ฯ เมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีภาพข่าวทหารของรัฐบาล ตาลิบันในอัฟกานิสถานสวนสนามอยู่บ่อย ๆ จะเห็นรถกระบะ ๔ ประตู ท้ายรถเปิดมีคนนั่งอยู่ แล่นอยู่ในกระบวนสวนสนามด้วย ทหารพวกนี้เองที่ขับไล่ทหารรัสเซียซึ่งยึดครองอัฟกานิสถานอยู่ ๑๐ ปี เมื่อไม่นานมานี้ให้ออกไปจากประเทศ


ภาพสุดท้ายของนานานี้เป็นภาพ นาวาเอก  Bill Shepherd  (เคยอยู่หน่วย  SEAL)  ผู้บังคับการสถานีอวกาศสากลกำลังสร้างโต๊ะอาหารในสถานีอวกาศ ซึ่งเขาเคยร้องขอจากศูนย์ควบคุมสถานีขอให้จัดส่งโต๊ะจากโลกขึ้นไปให้ แต่ศูนย์ควบคุมซึ่งรัสเซียเป็นผู้ควบคุมอยู่ให้รอก่อน เพราะโต๊ะมีน้ำหนักและไม่เร่งด่วน มีอุปกรณ์อื่นจะส่งขึ้นไปให้ก่อน ดังนั้นเขากับนักบินอวกาศจึงช่วยกันสร้างโต๊ะขึ้นเองจากขยะ โดยใช้กรอบอะลูมิเนียมของเครื่องผลิดออกซิเจนที่ไม่ใช้แล้วมาประกอบเข้าเป็น โต๊ะอาหาร ซึ่งใช้เวลา ๒ สัปดาห์ก็เสร็จ โต๊ะอาหารกลายเป็น "โต๊ะสังสรรค์" ของสถานีอวกาศไปโดยปริยาย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจบนสถานีอวกาศในปลายฤดูหนาวที่แล้ว  SHEPHERD  ซึ่งเมื่อคราวเดินทางไปถึงและเข้าไปในสถานีอวกาศได้ขออนุญาตขึ้นเรือ ต่อผู้บังคับการคนก่อน ตามธรรมเนียมทหารเรือ และเมื่อจะส่งหน้าที่ให้คนต่อไป เขาบอกว่า้ต้องทำให้สถานีอวกาศ  Shipshape ก่อนที่จะส่งมอบหน้าที่


ความคิดริเริ่มโดยไม่ไฮเทคดังกล่าวแล้วทำให้นึกถึงครูประเสริญ  ท้วมเริงรมย์ ซึ่งผู้เขียนพบและติดต่อกับท่านอยู่ ๕ - ๖ วันที่สิงค์โปร์ เกี่ยวกับการซ่อมทำเรือที่นั่น ดังที่ได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ผู้การ ตอน ชนและเกือบชน" ท่านมีความคิดบางอย่างที่จะใช้สิ่งของพื้นบ้านกับเรือและสิ่งอื่น ๆ เป็นต้นว่าอย่างเรือยกพลขึ้นบก แบบ  LCU  รุ่นเรืออาดัง หรือ  LCI  รุ่นเรือสัตกูด ซึ่งเรือแบบนี้กินน้ำตื้น อาจเกยหาดที่สาดมาก ๆ ได้ หรือเข้าไปในแม่น้ำลำคลองได้ ท่านว่าถ้าจะให้ใช้งานหรือส่งทหารลึกเข้าไปอีกจากที่เรือเข้าไปได้ถึงแล้ว หากประดิษฐ์ทุ่นลอยแบบ  Pontoon  แขวนไว้ ๒ ข้างกราบเรือ จะใช้พอนทูนติดเครื่องติดท้ายหรือหางยาวขนทหารขนของได้ลึกเข้าไปจากเรือใหญ่ นอกจากนี้ระหว่างที่พอนทูนแขวนอยู่ข้างกราบเรือใหญ่นั้นจะเสมือนเป็นเกราะ กำบังเรือได้อีกอย่างหนึ่งด้วย


นานานี้อาจได้ความคิดว่า  Home Made  อาจทำให้ปืนเสียเป็นปืนดี รถจักรยาน ๒ ล้อ เป็นยานพาหนะเคลื่อนที่และรวมพลได้ รถไถเป็นรถถัง รถกระบะเป็นรถรบ ขยะเป็นโต๊ะอาหารในสถานีอวกาศ ถ้าหากมีความคิดริเริ่มและไม่ยอมจำนน 

นานาห้า ไปเรียนนอกแล้วกลับบ้านไม่ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งว่า นาย  White House  เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ณ กรุงเทพ ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๒๐ ถึงแก่กรรม ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าเคยได้พบท่านครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยผู้เขียนได้ไปศึกษาหลักสูตร  Command  ของ  U.S. Naval War College  พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ซึ่งมีนักเรียนนานาชาติ ๓๘ คน ศึกษาร่วมกับนักเรียนสหรัฐ ฯ ๑๐๐ กว่าคนในหลักสูตรการทัพเรือ ปลาย ๆ ของหลักสูตรมีการเชิญ "พลเมืองอาวุโส" ของเมือง  Newport  ที่โรงเรียนตั้งอยู่มาสัมมนากับนักเรียน เมืองนิวพอร์ต ถือได้ว่าเป็นเมืองตากอากาศหน้าร้อนของผู้ดีมีเงินที่มีบ้านพักใหญ่โตสวยงาม ตามชายหาดของเมืองที่อยู่ในเขต  New England  ของสหรัฐ ฯ

ในวันสัมมนาตอนแรก มีการฟังบรรยายร่วมกัน แล้วแยกกลุ่มสัมมนาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อเข้าไปในห้องสัมมนาย่อยก้มลงหาโต๊ะนั่ง ปรากฎว่าข้าง ๆ ที่นั่งของสุภาพสตรีคนหนึ่งว่างอยู่จึงเข้าไปนั่ง และดูเหมือนนักเรียนอเมริกันจะหลีกเลี่ยงไม่นั่งใกล้สตรีผู้นั้นด้วย ระหว่างพักดื่มกาแฟ นักเรียนอเมริกาคนหนึ่งมากระซิบถามว่า รู้ไหมผู้หญิงนั้นเป็นใคร ตอบไม่ทราบ เขาก็บอกว่าเป็นแม่ยายประธานาธิบดีเคนเนดี้ไง คุณแม่ของท่านผู้หญิงแจ็คเกอลีน รู้ว่าผู้เขียนเป็นคนไทยอยู่กรุงเทพ ฯ ท่านก็บอกว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ชื่อ  White House  (เหมือนชื่อทำเนียบประธานาธิบดี) เป็นเพื่อนของท่าน แล้วท่านฝากจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านทูตให้ผู้เขียนนำไปหาท่านทูตในกรุงเทพ ฯ ในช่วงเวลานั้นทำให้ผู้เขียนได้รับเชิญในงานของสถานทูตสหรัฐ ฯ อยู่พักหนึ่ง ซึ่งเมื่อทราบว่าท่านถึงแก่กรรม ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้


เมื่อนึกถึงท่านทูตแล้วก็นึกเลยไปถึงนักเรียนต่างชาติร่วมรุ่น ๒ คน ที่เรียนจบหลักสูตรแล้วกลับบ้านไม่ได้ เพราะกรุงพนมเปญ และไซ่ง่อนแตก เสียแก่คอมมิวนิสต์ใน เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ นั่นเอง กล่าวคือ นักเรียนเวียดนามยศนาวาเอกและนักเรียนเขมรยศนาวาโท เมื่อเริ่มเรียนแต่รับยศนาวาเอกระหว่างการเรียน ไปเรียนโดยครอบครัวอยู่ในเวียดนามและเขมรไม่ได้ไปด้วย นักเรียนเขมรเป็นเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือเขมร ซึ่งคงรู้กำลังวังชาของเขมรดี มักบอกว่า กรุงพนมเปญไม่เสียง่าย ๆ ส่วนนักเรียนเวียดนามอยู่ในกรมยุทธการที่มักบ่นสีหน้าไม่ดี เพราะคอมมิวนิสต์รุกคืบหน้าตลอดเวลา ในที่สุดกรุงพนมเปญและกรุงไซ่ง่อนก็แตกตามลำดับ ยังดีที่ทางการสหรัฐ ฯ ช่วยเอาครอบครัวทั้งสองมาพบพ่อบ้านที่นิวพอร์ตได้ ระหว่างที่ยังไม่จบหลักสูตร ทางสหรัฐ ฯ จ่ายเงินให้นายทหารทั้งสอง ตามโครงการช่วยเหลือการศึกษา แต่ภายหลังหลักสูตรทราบว่านาวาเอกเวียดนามต้องขับรถแท็กซี่อยู่ในสหรัฐ ฯ อยู่พักหนึ่ง ส่วนนาวาเอกเขมรเคยเป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส ย้ายครอบครัวไปอยู่ในฝรั่งเศส - ไปเรียนแล้วกลับบ้านไม่ได้ทั้งคู่

อีกกรณีหนึ่งคล้ายกัน เมื่อผู้เขียนไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารเรือที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เป็นเวลา ๓ ปี ในช่วงเวลาท้าย ๆ แก่อาวุโสหรืออยู่นานก็เป็นหัวหน้า หรือ  Dean  ของผู้่วยทูตทหารประเทศต่าง ๆ ในนิวเดลีอยู่พักหนึ่ง ซึ่งมีผู้ช่วยทูต ๒๐ กว่าประเทศ หน้าที่ของดีนอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีผู้ช่วยทูตชาติใดย้ายไป ดีนจะจัดงานรับรองโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกัน หลังจากจัดงานแล้วตัวดีนก็จะออกหนังสือถึงเพื่อนทูตว่าเป็นค่าใช้จ่ายเท่าใด และขอให้แต่ละคนส่งเงินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมาให้ดีน ปรากฏว่าไม่ได้รับเงินจากผู้ช่วยทูตยศพันเอกจากเนปาล นานเข้าและผู้เขียนใกล้หมดวาระจะกลัับบ้าน จึงต้องทวงถามกัน ทราบว่าท่านทูตออกจากอินเดียไปแล้ว และไปไหนไม่ทราบ เพราะทางเนปาลเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ - อย่างนี้ก็มี


ในช่วงเวลา ๓ ปี ขณะอยู่ในอินเดียเกิดเหตุการณ์ "เมษาฮาวาย" ที่มีความพยายามใช้กำลังทหารเปลี่ยนรัฐบาลในกรุงเทพ ฯ ผู้เขียนอยู่ระหว่างการเดินทางทัศนศึกษาที่ทางการอินเดียจัดสำหรับทูตทหารไป ยังเมืองต่าง ๆ มีเพื่อนทูตถามถึงเหตุการณ์และเลียบเคียงถามว่าจะมีผลถึงการประจำอยู่นิวเด ลีต่อไปหรือไม่ ผู้เขียนตอบกลับไปโดยไม่ลังเลว่า - ไม่ เพราะทางเมืองไทย เมื่อไปเรียน ไปทำงานเมืองนอกแล้ว จะกลับบ้านได้เสมอ วางใจได้  TIT - This Is Thailand  ถ้าไม่เกเรที่เมืองนอก

ที่มา : พลเรือโท พัน  รักษ์แก้ว : นาวิกศาสตร์ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑๔ - ๒๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น