วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นานาวิกาสารา ๔๕๑

นานาหนึ่ง เปลี่ยนได้ครับ


เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินของสหรัฐ ฯ เอง ๓ ลำ บินเข้าชนตึกศูนย์การค้าในนครนิวยอร์กและตึกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ใน ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้เพียง ๓ วัน ประธานาธิบดีบุช ได้ประกาศศึกไล่ล่าผู้ก่อการร้าย ซึ่งในการปฏิบัติการทางทหารประกาศออกมาว่าชื่อ  Operation Infinite Justice  ไม่รู้ว่าจะแปลเป็นไทยให้ชื่อปฏิบัติการนี้ว่าอย่างไรดี มันออกสำเนียงคล้ายว่าเป็นการปฏิบัติการค้นหาความถูกต้องอันยาวนานหรืออย่าง ไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ทำท่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะการไล่ล่าหาตัวผู้ก่อการร้ายผู้ช่ำชองทำงานร้าย ๆ มานาน ย่อมใช้เวลานานอย่างแน่นอน ไม่เหมือนสงครามอ่าว  Gulf War  กรณีอิรักรุกรานคูเวตเมื่อ ๑๐ ปีมานี้ ที่ใช้เวลาเดือนเดียวก็ขับไล่พวกอิรักออกจากคูเวตไปได้

อย่างไรก็ดี เมื่อประกาศชื่อ  Operation Infinite Justice  ออกมาได้เพียง ๓ วัน โฆษกของ สภาความสัมพันธ์อเมริกัน - อิสลาม  (Council On American Islamic Relations)  ได้ออกมาแถลงติงว่า  Infinite Justice  เป็นพระกฤษฎาของพระผู้เป็นเจ้า  (The Prerogative Of God)  ผู้ทรงไม่ประสงค์ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำการในลักษณะล้างแค้นเคียดแค้น โดยปกติของสหรัฐ ฯ การปฏิบัติการทางทหารจะมีชื่อตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอต่อประธานาธิบดีถ้า ด้านอื่น อย่างปฏิบัิติการทางมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องที่กระทรวงอื่น เช่น กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เสนอ คนที่คิดคำ  Infinite Justice  ก็เป็นคนในฝ่ายเสนาธิการหรือฝ่ายอำนวยการในกระทรวงกลาโหมนั่นเอง ที่คงประมวลคำแถลงอันแข็งกร้าวของประธานาธิบดีในการไล่ล่าทำศึกกับผู้ก่อการ ร้าย เข้ากับลักษณะงานที่คงยาวนานเป็นคำสั้น ๆ ว่า  Infinite Justice  อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ฯ  Donald Rumsfeld  เมื่อได้ยินคำท้วงติงจาก  Council  ซึ่งเป็นสถาบันเอกชนธรรมดา ๆ ก็ได้เปลี่ยนชื่อทันทีจาก  Infinite Justice  เป็น  Operation Enduring Freedom  ออกกลิ่นไปทางสันติภาพอันยั่งยืน


อันคำว่า  Operation  ในทางทหารที่แปลกันออกมาว่า ปฏิบัติการหรือยุทธการ นี้ ก็ไม่ทราบว่ามีใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ไทยรบกับพม่าหลายครั้ง ตั้งแต่เมืองเหนือเชียงใหม่ลงมาถึงกาญจนบุรี แม้ครั้งศึกเก้าทัพสงครามใหญ่ก็ดี ไม่มีการกล่าวถึงการปฏิบัติการสักครั้ง การสงครามไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ ๘ ที่เกิดการรบทางเรือที่เกาะช้างก็ยังไม่มีอีก ทางยุโรปที่เป็นเจ้าของคำ  Operation  ใช้คำนี้กันเมื่อใดไม่ทราบ แต่ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีใช้แล้ว เช่น  Operation Barbarossa  ของเยอรมัน เป็นการยกกองทัพรุกเข้าไปในรัสเซียที่เป็นปฏิบัติการที่ใหญ่มาก  Operation Torch  ที่เป็นการยกพลขึ้นบกของกองกำลังผสมอังกฤษ - สหรัฐ ฯ ที่แอฟริกาเหนือ เป็นต้น   Churchill  นายยกรัฐมนตรีอังกฤษ ในช่วงเวลาสงครามโลกกล่าวไว้ว่า การให้ชื่อ  Operation  ที่เป็นรหัสคำนั้น ไม่ควรเป็นนัยให้เกิดอารมณ์ฮีกเหิมและเชื่อมั่นเกินเหตุ  (.....ought not to be described by code words which imply a boastful and overconfident sentiment.)

ผู้เขียนรู้จักและได้สัมผัสคำ  Operation  เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นเรือโท ในการฝึกลาดตระเวนสะเิทินน้ำสะเทินบกของ  SEATO  ที่ชายฝั่งจังหวัดระยอง ในนาม  Operation Teamwork II  ที่มี ๔ ชาติเข้าร่วมฝึก บ่งบอกถึงการร่วมกันทำงาน ก่อนหน้านั้นมี  Teamwork I  ซึ่งเป็นการฝึกยกพลขึ้นบกที่ชายหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นการฝึกของ  SEATO  เช่นกัน หลังจาก  SEATO  สลายตัวไป ทหารไทยก็มีการฝึกกับต่างชาติแบบตัวต่อตัว อย่างกับสหรัฐ ฯ ในปฏิบัติการ  COBRA GOLD  และ  KARAT  เป็นต้น ชื่อปฏิบัติการสำหรับฝึกจะตั้งชื่ออย่างใดไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าการฝึกเกิดทำให้คนที่สามไม่พอใจ เช่น เกาหลีเหนือ ไม่พอใจการฝึกระหว่างสหรัฐ ฯ กับเกาหลีใต้ที่มีขึ้นเป็นประจำ ก็จะมีการประท้วงกันเป็นครั้งคราว สำหรับ  Infinite Justice  เป็นการปฏิบัติจริง และจะเป็นการปฏิบัติที่ใหญ่โตกว้างขวาง ยืดยาว แต่กลายเป็นชื่อที่เปลี่ยนไป หลังจากประกาศให้โลกรู้ได้เพียง ๓ วัน ถ้ารัฐมนตรี รัมส์เฟลด์ ผู้รับผิดชอบกำลังทหารที่ทรงอำนาจในโลกยืนยันจะใช้ปฏิบัติการเดิมก็คงทำได้ เพราะเสียงท้วงติงแผ่ว ๆ มาเท่านั้น นานานี้ เป็นตัวอย่างให้รู้วา เมื่อคิดอะไร ทำอะไร ทกำหนดอะไรลงไปแล้ว ถ้าเกิดไม่เหมาะสมขึ้นมาเปลี่ยนได้ครับ


นานาสอง งานนี้งานของใคร

ในช่วงเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารเรือญี่ปุ่นจัดตั้งกองบินกามิกาเซ ใช้นักบินขับเครื่องบินลำเล็ก ๆ เก่า ๆ พุ่งเข้าชนเรือรบสหรัฐ ฯ เป็น "ยุทธวิธีสุดท้าย" ที่ญี่ปุ่นคิดว่าน่าจะทำความเสียหายให้แก่ทหารเรือสหรัฐ ฯ ได้มากที่สุด ญี่ปุ่นสดุดีนักบินทหารพลีชีพนำเครื่องบินไปทำร้ายข้าศึก่าวีรบุรุษ ทางสหรัฐ ฯ ที่เรือรบลำน้อยเสียหายจมไปหลายสิบลำ ไม่รู้ว่าจะเรียกนักบินผู้กล้าหาญชาวญี่ปุ่นพวกนั้นว่าอย่างไรดี เพราะพวกเขาเป็นทหารกระทำการในสงครามยอมพลีชีพเพื่อชาติและราชนาวี (ญี่ปุ่น)

๕๐ ปีต่อมา จากตำนานของนักบินกามิกาเซ เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ ๓ ลำของสายการบินภายในประเทศสหรัฐ ฯ ที่แต่ละลำมีคนนับร้อย มีน้ำมันเชื้อเพลิงนับแสนลิตร ถูกกลุ่มคนจี้บังคับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกศูนย์การค้า ๒ หลัง ในนครนิวยอร์ก และตึงทรงห้าเหลี่ยนมกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใน ๑๑ กันยายน ฑ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งทางการสหรัฐ ฯ บอกว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายในทันที

ก่อนเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น ในทางบกช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีนักก่อการพลีชีพเกิดขึ้นมากมาย ตามพื้นที่อันมีความขัดแย้งตามส่วนต่าง ๆ ของโลก ด้วยการใช้พาหนะแล่นเข้าชนเป้าหมาย หรือใช้ตัวตนเองติดวัตถุระเบิดพลีชีพระเบิดเป้าหมายโดยผู้กระทำการยอมตายไป ด้วย เป้าหมายเป็นตึกขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รถบัส บุคคลสำคัญ ศูนย์การค้า ฯลฯ สุดแต่ผู้กระทำการจะเลือกขึ้นมาว่าจะเอาอะไรเป็นเป้า


ในทางน้ำ ทางทะเล ก็มีเช่นกัน โดยผู้กระทำการพลีชีพนับตั้งแต่ในสงครามโลกมีการใช้เรือขนาดเล็กความเร็วสูง แล่นเข้าชนเป้าซึ่งผู้กระทำเป็นทหารและได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ ภายหลังสงครามโลกการใช้เรือเล็กลอบทำร้ายเรือใหญ่ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างพวกพยัคฆ์ทมิฬ ใช้กับเรือของทหารเรือศรีลังกา ใครก็ไม่รู้ใช้กับเรือฟริเกตสหรัฐ ฯ ชื่อ  Cole  ระหว่างจอดอยู่ในเมืองท่าเยเมนที่ตะวันออกกลางใน พ.ศ. ๒๕๔๓ แต่ยังไม่มีการเกิดเหตุการณ์เรือเิดินทะเลขนาดหลายหมื่นตันหรือนับแสนตันถูก นำแล่นเข้าชนเป้าหมายในท่าเรือสำคัญ ๆ ของโลกที่เรียงรายไปด้วยคลังสินค้า เรือสินค้า กลุ่มถังน้ำมันขนาดมหึมา อู่เรือ ฯลฯ ยังไม่มีอย่างนี้

ไม่มีใครนึกถึงการใช้เครื่องบินสำใหญ่บินเข้าชนตึก ที่ยอดคนตายและสูญหายเหยียบหมื่นคน แต่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เรือเดินทะเลสำมหึมายังไม่ได้ถูกใช้ไปถล่มทลายท่าเรือหรือเมืองติดท่าเรือ แต่มันเป็นไปได้ และมีคนนึกถึงอยู่ ผู้ที่นึกถึงและทำงานป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ได้แก่ หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ  U.S. Coast Guard  ที่ได้กระทำการตามหน้าที่ของตนอย่างฉับไวและเข้มงวดภายหลังตึกถูกถล่ม

หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในนาม  Revenue Marine  ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ หรือ พ.ศ. ๒๓๓๓ (ตรงกับกลางรัชสมัยรัชกาลที่ ๓) งานขแงแต่ละหน่วยสมัยแรก ๆ เป็นงานรักษาความปลอดภัย และการศุลกากรในทะเล เพราะเวลานั้นมีโจรสลัดและการหลีกเลี่ยงภาษีทางทะเลอยู่มาก งานมีมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันแบ่งงานได้หลายอย่าง นับตั้งแต่การรักษาและบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเกี่ยวกับการประมง การลักลอบเข้าเมือง การป้องกันยาเสพติด การช่วยเหลือช่วยชีวิตทางทะเล โจรสลัด โจรภัย ไปจนถึงการป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางอย่าง งานดูแลรักษาเครื่องช่วยการเดินเรืออย่างที่กรมอุทกศาสตร์ทำอยู่ งานรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมลพิษในท่าเรือและน่านน้ำอาณาเขต งานรักษาความปลอดภัยทางทะเลของเรือต่าง ๆ ในน่านน้ำ เรือสำราญ ชายหาดท่องเที่ยว และงานที่เกี่ยวข้องกับนานานี้ เรื่องนี้ คืองานความปลอดภัยของท่าเรือ  Port Safety


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ เน้นงานไปที่ความปลอดภัยของท่าเรือ และทางน้ำภายใน ตั้งแต่ใต้สุดบริเวณอ่าวแม็กซิโก ไปจนถึงเหนือสุดที่  Great Lake  ติดกับแคนาดา ทุกปีจะมีเรือจากต่างประเทศประมาณ ๑๐,๐๐๐ ลำ เข้ามายังท่าเรือสหรัฐ ฯ ราว ๖๘,๐๐๐ เที่ยวแต่เดิมเรือเหล่านี้ต้องแจ้งรายชื่อลูกเรือแก่หน่วยยามฝั่งล่วงหน้า ก่อนเข้าท่าเรือ ๒๖ ชั่วโมง ได้ถูกเปลี่่ยนเป็นล่วงหน้าถึง ๙๖ ชั่วโมง เรือน้ำมัน เรือบรรทุกวัตถุเคมีวัตถุเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพ และแผ่รังสีจะถูกตรวจค้นอย่างละเอียด ภายหลังการตรวจค้นแล้ว เรือที่มีสินค้าเหล่านี้ยังถูกเรือของหน่วยยามฝั่งติดตามเฝ้าดูตลอดเวลา พลสำรองบางส่วนของหน่วยยามฝั่งถูเรียกประจำการ ในสภาสูงสหรัฐ ฯ มีการพิจารณางบประมาณเพื่อการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือถึง ๓.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ นช่วงเวลา ๕ ปีข้างหน้า แม้กระนั้นก็ตาม หน่วยยามฝั่งยอมรับว่าไม่อาจตรวจตราเรือทุกลำได้ ซึ่งกระทำได้เพียงสุ่มตัวอย่าง และพยายามป้องกันไม่ให้เกิดวินาศกรรมขนาดใหญ่ในท่าเรือและทางน้ำภายในที่ สำคัญ ๆ เท่านั้น

หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ มีเรือเป็นของตนเอง นับตั้งแต่เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก ไปจนถึงเรือใหญ่ขนาดเรือฟริเกต บางลำมีดาดฟ้าให้เฮลิคอปเตอร์ลงได้ คนของหน่วยมีเครื่องแบบของตนเอง ยามปกติหน่วยทำงานให้แก่กระทรวงการขนส่ง  (Transportation)  ในยามสงครามจะร่วมทำงานกับกองทัพเรือ ในส่งครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง แม้กระทั่งสงครามเวียดนาม หน่วยยามฝั่งทำงานคู่เคียงกับทหารเรือนับตั้งแต่การป้องกันกองเรือลำเีลียง การตรวจการณ์เรือดำน้ำ การลำเลียงพลในการยกพลขึ้นบก การช่วยชีวิตในทะเล ฯลฯ มีหลายประเทศจัดตั้งหน่วยยามฝั่งของตนตามอย่างสหรัฐ ฯ เช่น อินเดีย จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ในชั้นแรกเอาตัวรองผู้บัญชาการทหารเรือ  (Deputy Chief Of Naval Staff)  ยศพลเรือโทเป็นผู้บัญชาการหน่วย และโอนทหารเรือบางส่วนมาอยู่หน่วยใหม่ มีเครื่องแบบของตนเอง หรือเรือและเครื่องบินโอนส่วนหนึ่งมาจากทหารเรือ ปัจจุบันหน่วยยามฝั่งอินเดียมีเรือและเครื่องบินอันทันสมัยไม่แพ้ใคร มีงานในหน้าที่ใกล้เคียงกับหน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ การรักษาความปลอดภัยทางน้ำของท่าเรืออินเดีย ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยยามฝั่ง


ทางเมืองไทยได้เข้มงวดในการป้องกันการก่อการร้ายเช่นกัน ทางทหารมีข่าวใน ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นทั่วไปว่าจะจัดเงินจำนวน ๘๐ ล้านบาท จัดตั้งกองพันต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นในทั้ง ๓ กองทัพ เพื่อจัดหาอาวุธและอุปกรณ์สำหรับเพิ่มความสามารถสู้กับการก่อการร้ายในระยะ ยาวอาจเพิ่มถึง ๘ กองพันเพื่อขยายขอบเขตงานให้มากขึ้น กองพันนี้ดูจะเป็นหน่วยรบพิเศษที่อาจเดินทางไปยังที่หมายได้ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ซึ่งคงจะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้เผชิญหน้าคนร้าย ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรจะเจอคนร้ายผู้ทำงานลับ ๆ สำหรับงานรักษาความปลอดภัยท่าเรืออย่างที่หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ฯ กระทำอยู่อย่างขะมักเขม้นเวลานี้เป็นของใครในเมืองไทย ตำรวจน้ำ ศุลกากร การท่าเรือ เจ้าท่า กองเรือป้องกันฝั่ง ? 

นานาสาม ไฮเทคเล็ก ๆ 

ก่อน ที่เครื่องบินโดยสาร ๓ ลำ จะบินชนตึกในนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ตลอดจนลำที่ ๔ ซึ่งบินตกดินเสียก่อนจะถึงเป้าหมายเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น ผู้โดยสารบางคนในเครื่องบินโชคร้ายใช้โทรศัพท์มือถือบอกเหตุการณ์ให้ญาติ มิตรข้างล่างทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้คนนับพันที่ติดอยู่ใต้ตึกซึ่งพังถล่มจากการโดนเครื่องบินชนก็ใช้ โทรศัพท์อันเล็ก ๆ นั้นเช่นกัน ตามข่าวที่ทราบกันอยู่ ประโยคสุดท้ายที่ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นมักพูดออกมาคือ  I Love You
เมื่อ ๒๐ ปีก่อนนี้ ผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างอยู่ในอากาศไม่มีทางที่จะติดต่อกับใครได้จนกว่า จะถึงจุดหมายปลายทางคล้าย ๆ กับสมัยผู้เขียนเป็นนักเรียนออกฝึกภาคทะเลเมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว ออกไปแล้ว ออกไปเลย เดือนกว่าหรือสองเดือน อย่างดีก็เขียนจดหมายถึงบ้านโดยไม่ได้หวังจะได้รับตอบ แต่ปัจจุบันนี้เรื่อในทะเลเมื่อเดินใกล้ฝั่งหรือเกาะที่มีสถานีถ่ายทอด สัญญาณ คนบนเรือสามารถติดต่อกับใครก็ได้ สร้างเครือข่าย  Ship To Shore  โดยไม่ต้องง้อเรือ เผลอ ๆ จะดีกว่าเครื่องมือสื่อสารของเรือด้วยซ้ำไป ไม่น่าเชื่อว่าเพียงชั่วเวลาไม่กี่ปีวัตถุอันเล็ก ๆ ในมือจะใช้ติดต่อกันได้ แทบทั่วโลกในทันทีแบบที่พูดกันว่าเพราะไฮเทค

แต่บางทีไฮเทคไม่กระจายไปทั่วโลก หรือบางแห่งไม่ไฮเทคด้วย หรือไฮเทคด้วย หรือไฮเทคไม่เป็นก็อาจทำเรื่องไม่เป็นเรื่องขึ้นได้อย่างข่าว  Sydney, AFP ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ออกข่าวว่าเรือยอนาฬิชต์ขนาด ๒๓ เมตร ชื่อ  Ombak Indah  เช่าเหมาลำโดยนักทัศนาจร ๑๐ กว่าคน เครื่องยนต์เสียขณะทะเลมีคลื่นสูง ๔ เมตร ระหว่างเกาะบาหลีกับลอมบอกของอินโดนีเซีย ทางเรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครตอบ ในที่สุดคุณ  Rebecca  ก็ใช้โทรศัพท์มือถือโทรถึงคู่รักในอังกฤษว่า "ติดต่อยามฝั่งที่แฟลมัธ เราต้องการความช่วยเหลือ  SOS"
ปรากฏว่าคุณคู่รัก  Hodgson  รับโทรศัพท์ได้แล้วแจ้งไปยังแฟลมัธ ทางแฟลมัธติดต่อไปทางอินโดนีเซีย แต่ต่อไม่ติดเพราะเหตุใดไม่แจ้ง แฟลมัธจึงติดต่อไปยังศูนย์ค้นหาและกู้ภัยของออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา ซึ่งต้องอาศัยสถานทูต จึงส่ง  SOS  ไปยังกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียได้เรือปืนของทหารเรืออินโดนีเซียได้ เรือปืนของทหารเรืออินโดนีเซียที่ลอมบอก จึงไปช่วยเรือและคนพ้นภัยมาได้ - เกือบไป

อีกกรณีคล้ายกันกับข้างต้น แต่เจ้าตัว - คิดไม่ออกบอกไม่ถูกมากกว่า คือนายแอชตัน สมิธ อาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เอาเรือแคนูทำด้วยหนังแมวน้ำ  (Kayak)  ไปพายเล่นในทะเลใกล้เกาะเล็ก ๆ Isle Of Wight  ทางตอนใต้ของอังกฤษเรือเกิดพลิกคว่ำ ซึ่งคุณสมิธปล้ำอยู่นานก็ไม่อาจกู้เรือให้หงายได้ อาจารย์หนุ่มบอกว่าใช้สมองคิดอยู่หลายนาทีว่าจะบอกใครให้มาช่วย แล้วก็คิดถึงน้องสาวกับพ่อ จึงโทรศัพท์ถึงพ่อ คุณพ่อซึ่งกำลังเป็นครูทหารอยู่ที่ดูไบห่างจากที่เกิดเหตุถึง ๕,๖๐๐ กิโลเมตร ตกใจ และแปลกใจ แล้วแจ้งข่าวไปยังหน่วยยามฝั่งที่อังกฤษ ซึ่งปรากฏว่าหน่วยอยู่ห่างจากคุณสมิธไม่ถึงหนึ่งไมล์ จึงได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวมาอย่างปลอดภัยอย่างนี้ก็มี


กรณีทั้งสองดังกล่าวแล้ว ออกอาการว่า คนไฮเทคกับไม่ไฮเทคยากจะไปด้วยกัน และคนไฮเทคแต่สติแตกก็เหมือนกับคนไม่ไฮเทค

โทรศัพท์มือถือที่คนอยู่บนเครื่องบินใช้พูดกับคนที่อยู่พื้นดินข้างล่างได้ ก็ดี ใช้พูดกับผู้รับที่อยู่ห่างไกลถึงครึ่งโลกได้ก็ดี เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้งอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกเป็นเหมือนหีบเหล็กหิ้วกันไหล่เอียงติดต่อกันได้แคบ ๆ ใกล้ ๆ ปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ เบาห้อยหูได้ แต่ติดต่อไปได้ไกลกว้างขวางเกือบทั่วโลก เหมือนกับการหาที่เรือแต่ก่อนต้องวัดแดดวัดดาว เปิดสมุทรคำนวณกันอีก ทุกวันนี้ใช้ระบบจากดาวเทียมรู้ตำบลที่เรือในทันที ยิ่งกว่านั้น ยังมีขนาดเล็กที่เป็นทั้งนาฬิกาข้อมือและระบบ  GPS  ในตัว  (Global Positioning System)  ที่คนขับเรือยามข้ามฟากแม่น้ำก็ใช้ได้


นาฬิกาแบบนี้มีไว้ในเรือหลวงเผื่อเหลือเผื่อขาดในการหาที่เรือก็น่าคิด หรือย่างโซน่าร์สำหรับค้นหาเรือดำน้ำก็ดี หาทุ่นระเบิดก็ดี ล้วนแต่มีขนาดใหญ่โต กินพื้นที่ ราคาแพง ปัจจุบันมีโซน่าร์ ค้นหาฝูงปลาที่มีตัวเซนเซอร์และจอภาพกราฟฟิกของฝูงปลา ตัวเครื่องมีน้ำหนักรวมเพียง ๔๑๕ กรัม ออกวางขายแล้ว ราคา ๒๕,๐๐๐ เยน ใครจะไปรู้ว่าโซน่าร์หิ้วได้ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้อาจตรวจหาทุ่นระเบิดบริเวณน้ำตื้นหรือปากแม่น้ำก็ได้ เพื่อถนอมเครื่องชุดใหญ่ ราคาแพง ให้มีอายุใช้งานได้นานขึ้น มันอยู่ที่ไม่ลองไม่รู้
ไฮเทคแบบเล็ก ๆ อาจฃ่วยงานใหญ่ได้ 

นานาสี่ ไม่ไฮเทค  

ผู้เขียนยังจำได้จนบัดนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นนายทหารเด็ก ๆ ได้พบเรือเอก บุญสม  ชื่นวงษ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นต้นปืนเรือโพสามต้น บริเวณท่าราชวรดิฐ (บุญสม เป็นนักเรียนรุ่นน้อง ๒ - ๓ ปี ทราบว่าลาออกจากราชการไปอยู่ในสหรัฐ ฯ นานแล้ว) ถามไถ่บุญสม ในวันนั้นว่าไปไหนมา บุญสมบอกว่าไปที่คลองถมเพื่อจะไปหาซื้อแผ่นไดเอแฟรมที่เป็นยางแบนรูปกลม สำหรับใช้กับเครื่องไฮดรอลิกหันปืนใหญ่ของเรือ แผ่นยางนี้ไม่มีอะไหล่ จึงเอาไปเป็นตัวอย่างเทียบเคียงกับของที่มีขายอยู่ที่คลองถม ผู้เขียนฟังแล้วก็นับถือเขาและคิดว่า เป็นไปได้ที่ปืนใหญ่เรือโพสามต้นจะหันปืนได้ เพราะต้นปืนไปเดินท่อม ๆ หา ของอะไหล่จากร้านที่ขายเครื่องจักร เครื่องกลของชาวบ้าน ถ้าแผ่นไดอะแฟรมยางที่คลองถมมีขนาดและรูปร่างเหมือนของจริงน่าจะใช้หันปืน ได้ เพียงแต่อาจหันปืนได้ช้าไปบ้าง หรือยางมีอายุไม่ทนทาน แต่ผู้เขียนไม่พบเรือเอกบุญสม ฯ อีก จึงไม่ทราบว่าของที่คลองถมใช้กับปืนใหญ่บนเรือรบได้หรือไม่


ข้อคิดที่ได้จากเรือเอก บุญสม ฯ ซึ่งอาจถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอาจนำของที่ชาวบ้านใช้อยู่มาแทนที่ไฮเทค บ้างก็ได้ ภาพทหารบกไทยขี่จักรยาน ๒ ล้อที่นอกจากมีอาวุธประจำกายแล้ว ยังมีปืน ค. ขนาด ๖๐ มิลลิเมตร พร้อมกระสุนหิ้วติดรถไปด้วย แสดงความไม่ไฮเทค แต่เหนือชั้นทางความคิดทีเดียว รถจักรยานนั้นเคลื่อนที่ได้อย่างเงียบเชียบ ไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปได้เร็วกว่าเดิน ยิ่งเป็นจักรยานแบบเสือภูเขาแล้วยิ่งดี รถจักรยานอย่างนี้จะใช้ในบางภูมิประเทศได้ดีกว่ายานยนต์อื่นด้วยซ้ำไป การใช้จักรยานในการเคลื่อนที่อาจใช้รวมพลได้ถึงระดับกองทัพทีเดียว ดังที่กองทัพญี่ปุ่นกระทำมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กล่าวคือ ก่อนที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลก กองทัพญี่ปุ่นได้รุกยึดได้จีนบางส่วน แมนจูเรีย และคาบสมุทรเกาหลีไว้แล้ว เมื่อถูกฝ่ายตะวันตกคว่ำบาตรและปิดล้อมทางเศรษฐกิจก็ตัดสินใจจะแหวกวงล้อม แต่จะแหวกต่อไปทางเหนือหรือลงใต้มาทางทะเลจีน ในที่สุดจะลงใต้ตีวงเป็นมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเมื่อต้องพิจารณาการเคลื่อนที่ของกองทหารในภูมิประเทศเอเชียตะวันออก เฉียงใต้แล้ว เห็นว่าใช้จักรยาน ๒ ล้อ ดีที่สุด ใช้ม้าจะลำเลียงทางเรือลำบาก และต้องหาอาหารให้ ใช้ยานยนต์ก็เปลืองเชื้อเพลิงและเส้นทางไม่ดี ทหารราบญี่ปุ่นจึงมีรถจักรยานที่สามารถไปรวมพล ณ ตำบลที่ ตามต้องการได้ รุกผ่านมาเลเซียลงไปยังสิงคโปร์ ตลอดจนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า มุ่งอินเดีย


อีกภาพหนึ่งเป็นภาพรถไถบุลโดเซอร์ ถูกดัดแปลงเป็นรถถัง มีหอรบติดปืนกลหนักข้างบน มีห้องสำหรับหมู่รบ มีสายพานและแรงขับเคลื่อนไปไหนไปกันได้เหมือนรถถัง รถคันนี้ดัดแปลงโดยกองกำลัง  Malaita Eagle  ในการต่อสู้กับขบวนการ  Isatabu Freedom  ใกล้เมืองฮอนตารา เพราะขบวนการไอซาตาบูไม่ยอมรับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของโซโลมอน


และอีกภาพหนึ่งเป็นรถกระบะ  Ford F - 350  ที่ทหารบกสหรัฐ ฯ ดัดแปลงเป็นรถต้นแบบสำหรับงานต่อสู้ผู้ก่อการร้าย ควบคุมฝูงชน ลาดตระเวณชายแดน ซึ่งเป็นงานทางรับมากกว่าทางรุก ทั้งนี้รถทหารแบบฮัมวีย์ที่ใช้อยู่ราคาแพง และสมรรถนะสูงเกินไปสำหรับงานจำพวกนี้ การดัดแปลงรถกระบะขับเคลื่อน ๔ ล้อ ทำได้หลายอย่างตามต้องการ เช่น ใช้กระจกกันกระสุนคิดกล้องส่องกลางคืน ติดเครื่องมือสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ราคารถฮัมวีย์ ๑ คันจะเท่ากับรถแบบนี้ ๓ - ๔ คัน ภายหลังการก่อวินาศกรรม เครื่องบินชนตึกในสหรัฐ ฯ เมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีภาพข่าวทหารของรัฐบาล ตาลิบันในอัฟกานิสถานสวนสนามอยู่บ่อย ๆ จะเห็นรถกระบะ ๔ ประตู ท้ายรถเปิดมีคนนั่งอยู่ แล่นอยู่ในกระบวนสวนสนามด้วย ทหารพวกนี้เองที่ขับไล่ทหารรัสเซียซึ่งยึดครองอัฟกานิสถานอยู่ ๑๐ ปี เมื่อไม่นานมานี้ให้ออกไปจากประเทศ


ภาพสุดท้ายของนานานี้เป็นภาพ นาวาเอก  Bill Shepherd  (เคยอยู่หน่วย  SEAL)  ผู้บังคับการสถานีอวกาศสากลกำลังสร้างโต๊ะอาหารในสถานีอวกาศ ซึ่งเขาเคยร้องขอจากศูนย์ควบคุมสถานีขอให้จัดส่งโต๊ะจากโลกขึ้นไปให้ แต่ศูนย์ควบคุมซึ่งรัสเซียเป็นผู้ควบคุมอยู่ให้รอก่อน เพราะโต๊ะมีน้ำหนักและไม่เร่งด่วน มีอุปกรณ์อื่นจะส่งขึ้นไปให้ก่อน ดังนั้นเขากับนักบินอวกาศจึงช่วยกันสร้างโต๊ะขึ้นเองจากขยะ โดยใช้กรอบอะลูมิเนียมของเครื่องผลิดออกซิเจนที่ไม่ใช้แล้วมาประกอบเข้าเป็น โต๊ะอาหาร ซึ่งใช้เวลา ๒ สัปดาห์ก็เสร็จ โต๊ะอาหารกลายเป็น "โต๊ะสังสรรค์" ของสถานีอวกาศไปโดยปริยาย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจบนสถานีอวกาศในปลายฤดูหนาวที่แล้ว  SHEPHERD  ซึ่งเมื่อคราวเดินทางไปถึงและเข้าไปในสถานีอวกาศได้ขออนุญาตขึ้นเรือ ต่อผู้บังคับการคนก่อน ตามธรรมเนียมทหารเรือ และเมื่อจะส่งหน้าที่ให้คนต่อไป เขาบอกว่า้ต้องทำให้สถานีอวกาศ  Shipshape ก่อนที่จะส่งมอบหน้าที่


ความคิดริเริ่มโดยไม่ไฮเทคดังกล่าวแล้วทำให้นึกถึงครูประเสริญ  ท้วมเริงรมย์ ซึ่งผู้เขียนพบและติดต่อกับท่านอยู่ ๕ - ๖ วันที่สิงค์โปร์ เกี่ยวกับการซ่อมทำเรือที่นั่น ดังที่ได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ผู้การ ตอน ชนและเกือบชน" ท่านมีความคิดบางอย่างที่จะใช้สิ่งของพื้นบ้านกับเรือและสิ่งอื่น ๆ เป็นต้นว่าอย่างเรือยกพลขึ้นบก แบบ  LCU  รุ่นเรืออาดัง หรือ  LCI  รุ่นเรือสัตกูด ซึ่งเรือแบบนี้กินน้ำตื้น อาจเกยหาดที่สาดมาก ๆ ได้ หรือเข้าไปในแม่น้ำลำคลองได้ ท่านว่าถ้าจะให้ใช้งานหรือส่งทหารลึกเข้าไปอีกจากที่เรือเข้าไปได้ถึงแล้ว หากประดิษฐ์ทุ่นลอยแบบ  Pontoon  แขวนไว้ ๒ ข้างกราบเรือ จะใช้พอนทูนติดเครื่องติดท้ายหรือหางยาวขนทหารขนของได้ลึกเข้าไปจากเรือใหญ่ นอกจากนี้ระหว่างที่พอนทูนแขวนอยู่ข้างกราบเรือใหญ่นั้นจะเสมือนเป็นเกราะ กำบังเรือได้อีกอย่างหนึ่งด้วย


นานานี้อาจได้ความคิดว่า  Home Made  อาจทำให้ปืนเสียเป็นปืนดี รถจักรยาน ๒ ล้อ เป็นยานพาหนะเคลื่อนที่และรวมพลได้ รถไถเป็นรถถัง รถกระบะเป็นรถรบ ขยะเป็นโต๊ะอาหารในสถานีอวกาศ ถ้าหากมีความคิดริเริ่มและไม่ยอมจำนน 

นานาห้า ไปเรียนนอกแล้วกลับบ้านไม่ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งว่า นาย  White House  เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ณ กรุงเทพ ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๒๐ ถึงแก่กรรม ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าเคยได้พบท่านครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยผู้เขียนได้ไปศึกษาหลักสูตร  Command  ของ  U.S. Naval War College  พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ซึ่งมีนักเรียนนานาชาติ ๓๘ คน ศึกษาร่วมกับนักเรียนสหรัฐ ฯ ๑๐๐ กว่าคนในหลักสูตรการทัพเรือ ปลาย ๆ ของหลักสูตรมีการเชิญ "พลเมืองอาวุโส" ของเมือง  Newport  ที่โรงเรียนตั้งอยู่มาสัมมนากับนักเรียน เมืองนิวพอร์ต ถือได้ว่าเป็นเมืองตากอากาศหน้าร้อนของผู้ดีมีเงินที่มีบ้านพักใหญ่โตสวยงาม ตามชายหาดของเมืองที่อยู่ในเขต  New England  ของสหรัฐ ฯ

ในวันสัมมนาตอนแรก มีการฟังบรรยายร่วมกัน แล้วแยกกลุ่มสัมมนาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อเข้าไปในห้องสัมมนาย่อยก้มลงหาโต๊ะนั่ง ปรากฎว่าข้าง ๆ ที่นั่งของสุภาพสตรีคนหนึ่งว่างอยู่จึงเข้าไปนั่ง และดูเหมือนนักเรียนอเมริกันจะหลีกเลี่ยงไม่นั่งใกล้สตรีผู้นั้นด้วย ระหว่างพักดื่มกาแฟ นักเรียนอเมริกาคนหนึ่งมากระซิบถามว่า รู้ไหมผู้หญิงนั้นเป็นใคร ตอบไม่ทราบ เขาก็บอกว่าเป็นแม่ยายประธานาธิบดีเคนเนดี้ไง คุณแม่ของท่านผู้หญิงแจ็คเกอลีน รู้ว่าผู้เขียนเป็นคนไทยอยู่กรุงเทพ ฯ ท่านก็บอกว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ชื่อ  White House  (เหมือนชื่อทำเนียบประธานาธิบดี) เป็นเพื่อนของท่าน แล้วท่านฝากจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านทูตให้ผู้เขียนนำไปหาท่านทูตในกรุงเทพ ฯ ในช่วงเวลานั้นทำให้ผู้เขียนได้รับเชิญในงานของสถานทูตสหรัฐ ฯ อยู่พักหนึ่ง ซึ่งเมื่อทราบว่าท่านถึงแก่กรรม ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้


เมื่อนึกถึงท่านทูตแล้วก็นึกเลยไปถึงนักเรียนต่างชาติร่วมรุ่น ๒ คน ที่เรียนจบหลักสูตรแล้วกลับบ้านไม่ได้ เพราะกรุงพนมเปญ และไซ่ง่อนแตก เสียแก่คอมมิวนิสต์ใน เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ นั่นเอง กล่าวคือ นักเรียนเวียดนามยศนาวาเอกและนักเรียนเขมรยศนาวาโท เมื่อเริ่มเรียนแต่รับยศนาวาเอกระหว่างการเรียน ไปเรียนโดยครอบครัวอยู่ในเวียดนามและเขมรไม่ได้ไปด้วย นักเรียนเขมรเป็นเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือเขมร ซึ่งคงรู้กำลังวังชาของเขมรดี มักบอกว่า กรุงพนมเปญไม่เสียง่าย ๆ ส่วนนักเรียนเวียดนามอยู่ในกรมยุทธการที่มักบ่นสีหน้าไม่ดี เพราะคอมมิวนิสต์รุกคืบหน้าตลอดเวลา ในที่สุดกรุงพนมเปญและกรุงไซ่ง่อนก็แตกตามลำดับ ยังดีที่ทางการสหรัฐ ฯ ช่วยเอาครอบครัวทั้งสองมาพบพ่อบ้านที่นิวพอร์ตได้ ระหว่างที่ยังไม่จบหลักสูตร ทางสหรัฐ ฯ จ่ายเงินให้นายทหารทั้งสอง ตามโครงการช่วยเหลือการศึกษา แต่ภายหลังหลักสูตรทราบว่านาวาเอกเวียดนามต้องขับรถแท็กซี่อยู่ในสหรัฐ ฯ อยู่พักหนึ่ง ส่วนนาวาเอกเขมรเคยเป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส ย้ายครอบครัวไปอยู่ในฝรั่งเศส - ไปเรียนแล้วกลับบ้านไม่ได้ทั้งคู่

อีกกรณีหนึ่งคล้ายกัน เมื่อผู้เขียนไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารเรือที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เป็นเวลา ๓ ปี ในช่วงเวลาท้าย ๆ แก่อาวุโสหรืออยู่นานก็เป็นหัวหน้า หรือ  Dean  ของผู้่วยทูตทหารประเทศต่าง ๆ ในนิวเดลีอยู่พักหนึ่ง ซึ่งมีผู้ช่วยทูต ๒๐ กว่าประเทศ หน้าที่ของดีนอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีผู้ช่วยทูตชาติใดย้ายไป ดีนจะจัดงานรับรองโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกัน หลังจากจัดงานแล้วตัวดีนก็จะออกหนังสือถึงเพื่อนทูตว่าเป็นค่าใช้จ่ายเท่าใด และขอให้แต่ละคนส่งเงินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมาให้ดีน ปรากฏว่าไม่ได้รับเงินจากผู้ช่วยทูตยศพันเอกจากเนปาล นานเข้าและผู้เขียนใกล้หมดวาระจะกลัับบ้าน จึงต้องทวงถามกัน ทราบว่าท่านทูตออกจากอินเดียไปแล้ว และไปไหนไม่ทราบ เพราะทางเนปาลเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ - อย่างนี้ก็มี


ในช่วงเวลา ๓ ปี ขณะอยู่ในอินเดียเกิดเหตุการณ์ "เมษาฮาวาย" ที่มีความพยายามใช้กำลังทหารเปลี่ยนรัฐบาลในกรุงเทพ ฯ ผู้เขียนอยู่ระหว่างการเดินทางทัศนศึกษาที่ทางการอินเดียจัดสำหรับทูตทหารไป ยังเมืองต่าง ๆ มีเพื่อนทูตถามถึงเหตุการณ์และเลียบเคียงถามว่าจะมีผลถึงการประจำอยู่นิวเด ลีต่อไปหรือไม่ ผู้เขียนตอบกลับไปโดยไม่ลังเลว่า - ไม่ เพราะทางเมืองไทย เมื่อไปเรียน ไปทำงานเมืองนอกแล้ว จะกลับบ้านได้เสมอ วางใจได้  TIT - This Is Thailand  ถ้าไม่เกเรที่เมืองนอก

ที่มา : พลเรือโท พัน  รักษ์แก้ว : นาวิกศาสตร์ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑๔ - ๒๗

อุทยานประวัติศาสตร์ และสวนปืนของ พลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ คุณมนต์ชัย  ราบรื่นทวีสุข ผู้ริเริ่มตั้ง "ชมรมคำแนะนำเกี่ยวกับการบูรณะและรักษาเครื่องบินทะเลที่ได้จำลองขึ้นดและ ตั้งไว้บนอนุสรณ์เรือหลวงแม่กลอง ซึ่งชำรุดเนื่องจากสภาพลมฟ้าอากาศและเพื่อชมอุทยานประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ ที่สร้างขึ้น

คุณมนต์ชัย ฯ เป็นบุุคคลที่ผมเห็นว่าสนใจในประวัติศาสตร์ของทหารเรือมากและดูเหมือนว่าจะ มากกว่านายทหารเรือบางท่านเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเชื่้อสายทหารเรือ คุณมนต์ชัย ฯ ได้ติดต่อกับผมทางโทรศัพท์เรื่อยมาตั้งแต่ท่านริเริ่มจะซ่อมปืนใหญ่ ๑๕๒/๓๒ มิลลิเมตร ของป้อมพระจุลจอมเกล้าให้ใช้ยิงได้ และได้ "ลงทุนลงแรง" จนซ่อมปืนที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี และเครื่องแรงน้ำมัน (ไฮดรอลิกส์) สำหรับยกปืนจนใช้ได้สำเร็จ ต่อมาเมื่อจะนำเรือหลวงแม่กลองไปตั้งไว้บนบกเป็นอนุสรณ์


คุณมนต์ชัย ฯ ก็ตั้งใจสร้างเครื่องบินทะเลประจำเรือหลวงแม่กลองซึ่งเป็นแบบราชนาวี ๑ (บรน. ๑) หรือแบบวานาตาเบ  WS-103  เอาไว้บนเรือ

ได้ติดต่อขอรายละเอียดต่าง ๆ จากผม ผมได้พยายามส่งไปให้เท่าที่ผมรวบรวมไว้ รวมทั้งรูปถ่ายเครื่องบินนี้จากหนังสือพิมพ์ในพิธีรับมองและเจิมเครื่องบิน ซึ่งประชาชนซื้อให้ (ราคาประมาณเครื่องละ ๓๗,๗๐๐ บาท) รูปเหล่านี้ผมตัดจากหนังสือพิมพ์ปิดไว้ในสมุดจดหมายเหตุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ นอกจากนั้น เมื่อมีผู้เขียนบทความลงในวารสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของทหารเรือ และคุณมนต์ชัย ฯ เห็นว่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คุณมนต์ชัย ก็จะเขียนจดหมายไปทักท้วงและส่งสำเนามาหารือผมอีกด้วย นับว่าคุณมนต์ชัย ฯ เป็น "แฟนทหารเรือ" ที่ประหลาดและหาได้ยาก ทั้งนี้ผมได้สนับสนุนคุณมนต์ชัย ฯ ตลอดมาตามกำลังสติปัญญาของผม

เมื่อกองทัพเรือทำพิธีเปิด "อุทยานประวัติศาสตร์" นั้น ได้เชิญผมไปร่วมพิธีด้วย แต่ในวันนั้น สุขภาพของผมไม่อำนวย ผมจึงไม่ได้ไปร่วมงาน เมื่อจะได้ชม "อุทยานประวัติศาสตร์" ในครั้งนี้ก็เป็นอันตรงกับความตั้งใจของผม

คุณมนต์ชัย ฯ ได้เชิญรองศาสตราจารย์มลิวัลย์  แตงแก้วฟ้า แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรไปด้วย ท่านผู้นี้ได้เคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกองทัพเรือเมื่อท่าศึกษาปริญญาโท จึงทราบเรื่องราวในอดีตของกองทัพเรือมากพอสมควร

คุณมนต์ชัย ฯ คงจะได้ติดต่อประสานงานกับทางป้อมพระจุลจอมเกล้าไว้ก่อนแล้ว เมื่อไปถึงจึงได้พบนาวาโท อภิเดช อินทรวงศ์ รองผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้า มาต้อนรับและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เริ่มจากการนำไปสักการะศาลพระนเรศ - นารายณ์ แล้วถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์บิดาของกองทัพเรือ และพระอนุสรณ์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน

ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีพระคุณแก่กองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้ ถ้าไม่มีพระยาทสมเด็จพระปิยมหาราช หน่วยงานที่ปฏิบัติการทางเรือก็คงจะเป็นหน่วยย่อย ๆ ในบังคับบัญชาของเจ้านายและข้าราชการ เช่น "ทหารเรือวังหน้า" กรมอรสุมพล กรมเรือกลไฟ กรมเรือพระที่นั่งเวสาตรี กรมแสง กองทหารมะรีน ฯลฯ อยู่เช่นเดิมไม่มีเอกภาพในการงานแะการบังคับบัญชาสภาพนี้มีอยู่จนเมื่อ พระองค์พระราชทานกำเนิด "กรมทหารเรือ" ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๐ พระองค์จึงทรงเป็น "องค์บิดาของกองทัพเรือ" ตั้งแต่นั้นมา แต่การงานและองค์บุคคลก็ยังไม่เข้ารูปจนเมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดม ศักดิ์ เสด็จกลับจากอังกฤษมารับราชการใน พ.ศ.๒๔๔๓ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๒๐ พรรษาเท่านั้น พระองค์ได้ริเริ่มฝึกทหารเหล่าทัศนสัญญาณเป็นหน่วยแรกในปีนั้น และคงจะได้ทรงเห็นพื้นฐานความรู้และสังคมของ "บุตรหมู่" ที่เป็นทหารเรือว่ามีเพียงใด ต่อมาพระองค์ได้ทรงฝึกพลทหารที่บางพระ ทรงกำหนดการฝึกและสั่งสอนอบรมประเพณีนิติธรรมของทหารเรือไปด้วยในเวลาเดียว กัน และทรงเห็นว่าผู้เป็นนายทหารที่เป็นผู้อบรมนั้นเป็นข้าราชการพลเรือนมาแต่ เดิม มีพื้นฐานและวินัยทหารไม่ดีกว่าผู้ที่เป็นพลทหาร พระงอค์จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายไปเป็น "ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ" ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็น "การสำคัญสำหรับภายหน้า" แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จนกระทั่งอีก ๓ ปีต่อมา พระองค์จึงได้เข้าดูแลและควบคุมการฝึกหัดศึกษาในโรงเรียนนายเรือ ทั้งฝึกสอนวิชาทหาร วางระเบียบปฏิบัติตลอดจนอบรมประเพณีนิติธรรมของทหารเรือไปด้วย ทรงเป็น "เสด็จเตี่ย" ของนักเรียนและทหารเรือทั้งหลายในเวลาต่อมา ทหารเรือที่มาจากกรมกองและเชื้อชาติต่าง ๆ คือ มอญ ลาว อาสาจาม ไทย ฯลฯ จึงพ้นจากสภาพเดิมของตน กลายเป็น "ทหารเรือ" อันเดียวกัน พระองค์จึงทรงเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย" อย่างแท้จริงทั้งในรูปธรรมและนามธรรมสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

เสด็จจากการถวายสักการะแล้ว นาวาโท อภิเดช ฯ ได้นำไปชมปืนใหญ่ประจำป้อม ฯ ที่ซ่อมเสร็จและทดลองยิงไปแล้ว คุณมนต์ชัย ฯ เล่าถึงความลำบากในการซ่อมซึ่งจะต้องจัดทำชิ้นส่วนขึ้นเองและติดต่อโดยตรง กับบริษัทผู้สร้างปืนซึ่งยังเก็บอดีตไว้เป็นประวัติ ผมจำได้ว่าในหนังสือ "คู่มือวัตถุระเบิด" ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ ซึ่งพิมพ์เมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว และผมเคยใช้เป็นหนังสือเรียนในชั้น ๔ ของโรงเรียนนายเรือ มีรายการเกี่ยวกับดินระเบิดและ "ดินขับ" (ดินส่งกระสุน) ของปืนนี้อยู่ด้วย นอกจากนั้นในการยิงทดลองปืนนี้ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริสรานุวัตติวงศ์ ทรง "รั้งตำแหน่ง" ผู้บัญชาการกรมทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๓๘ นั้นทรงกล่าวไว้ในรายงานของพระองค์ว่า "มีเครื่องวัดระยะทางบนเสาธงของป้อม" ซึ่งวัดระยะและส่งมายังปืน ผมจึงขอให้คุณมนต์ชัย ฯ ซึ่งเป็นวิศวกรพิจารณาว่าจะเป็น "เครื่องวัดระยะทาง" แบบใด เพราะต้องไม่ใช่กล้องวัดระยะทาง  (RANGE FINDER)  ที่ใช้กันในเวลาต่อมาแน่นอน


ต่อจากนั้นได้เดินมาที่อนุสรณ์เรือหลวงแม่กลอง นาวาโท อภิเดช ฯ อธิบายว่าได้ยกเครื่องบินทะเลที่ชำรุดไปเก็บไว้บนบกแล้ว อนุสรณ์เรือหลวงแม่กลองได้รับการทาสีใหม่สวยงาม แต่ผู้ทาสีได้ "ลบขีดขาว ๒ ขีด ที่แนวน้ำหัวเรือ" อาจเป็นเพราะยัง "ทาสีไม่เสร็จ" หรือเห็นว่า "ไม่มีความหมาย" แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วขีดยาว ๒ ขีดนี้มีความสำคัญมากแก่เรือในสมัยที่ใช้พาราเวนประจำเรือ


ขีดขาว ๒ ขีดที่แนวน้ำหัวเรือของเรือหลวงแม่กลองชี้ไปยังช่องหรือรูที่เจาะไว้ที่กระดูกงูของเรือเพื่อร้อยลวดห่วงพาราเวน ที่กราบเรือในแนวตรงกันมีพุกที่ทำไว้เป็นพิเศษทั้ง ๒ กราบ เมื่อเวลาจะใช้พาราเวน จะใช้กระบอกยาวจากดาดฟ้าถึงแนวน้ำ ตรงปลายทำเป็นกรวยรองรับลูกทุ่นเล็ก ๆ ที่ร้อยเชือกไว้ในกระบอกทุ่น ทหารบนดาดฟ้าจะไสกระบอกนี้ไปตามขีดขาว เมื่อปลายกระบอกมีทุ่นเลื่อนไปถึงช่องที่กระดูกงู ทุ่นก็จะลอดช่องนั้นไปโผล่ขึ้นอีกกราบหนึ่งทหารบนเรือก็จะใช้ขอด้ามยาว เกี่ยวทุ่นขึ้นมาบนเรือ แล้วผูกโซ่นำตรึงไว้ที่พุกพิเศษดังกล่าวแล้วทั้ง ๒ กราบ เมื่อนำลวดห่วงพาราเวนซึ่งมีขนาดโตประมาณ ๒ นิ้ว (จำไม่ได้แน่นอน) ที่สันเกลียวทุกเกลียวมีลวดขนาดโตกว่าลวดที่ใช้ถักเป็นห่วงแทรกอยู่ทุก เกลียว ครูอธิบายว่า ความแข็งของลวดที่สันเกลียวประกอบกับความเร็วของเรือ จะทำให้มีกำลังพอที่จะตัดลวดสายทุ่นระเบิดให้ขาดได้ แต่ถ้ายังไม่ขาดลวดสายทุ่นระเบิดก็จะรูดไปตามลอดห่วงพาราเวนไปเข้ากรรไกรที่ ตัวพาราเวนอีกทีหนึ่ง ที่ต้องำเช่นนี้ก็เพื่อให้ลวดห่วงพาราเวนอยู่ต่ำถึงกระดูกงูของเรือเท่ากับ ที่หัวเรือกินน้ำลึก มิใช่ห่วงจากดาดฟ้าที่ตัวพาราเวนนั้นสามารถ "ตั้งลึก" ได้ตามที่ต้องการอยู่แล้ว ขีดขาว ๒ ขีดนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรักษาไว้

เรือในกองทัพเรือที่มีขีดขาว ๒ ขีดนี้มี ๔ ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เรือหลวงศรีอยุธยา และเรือหลวงธนบุรี ซึ่งเป็นเรือที่มีพาราเวนประจำเรือ

เมื่อผมเป็นนักเรียนนายเรือชั้น ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ฝึกภาคกับเรือหลวงแม่กลอง และมีการฝึกใช้พาราเวนกวาดทุ่นระเบิด เมื่อจะเข้าในบริเวณเกาะช้างทางด้านเกาะคลุ้ม เกาะหวาย ต้นตอร์ปิโดของเรือหลวงแม่กลอง คือ คุณครูเรือเอก ชัช จุลละรัต (ต่อมาเป็นพลเรือโทถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) เป็นผู้อำนวยการและยุ่งพอสมควร เพราะดาดฟ้ายก ของเรือหลวงแม่กลองในเวลานั้นปูด้วยยางต้องนำไม้กระดานที่มีสลักเกลียวสวม เข้ากับรูบนดาดฟ้ามาปูบนยางตามแนวทางที่ลวดห่วงพาราเวนจะผ่าน ได้เห็นพาราเวนที่กางออกไปทั้ง ๒ ข้างเรือ ผมได้เห็นการฝึกกวาดทุ่นระเบิดอีกครั้งหนึ่งในเรือหลวงศรีอยุธยา เมื่อเป็นว่าที่เรือตรีและไปฝึกกับเรือนั้นใน พ.ศ. ๒๔๘๗

หลังจากนั้นได้มารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารริมน้ำ มีผู้รับประทานเต็มร้าน และยังเข้าคิวรอโต๊ะว่างอีกหลายคน นาวาโท อภิเดช ฯ เล่าว่า เป็นอย่างนี้ทุกวันอาทิตย์ แต่วันธรรมดามีคนไม่มากนัก ผมได้แต่หวังว่า ภัตตาคารหรือร้านอาหารนี้ คงจะมีความเจริญยิ่งขึ้นถ้าได้ควบคุมราคาอาหารและการบริการให้สม่ำเสมอ

เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ได้ไปชมเครื่องบินทะเลซึ่งทางป้อม ฯ ได้นำมาเก็บไว้ในโรง คุณมนต์ชัย ฯ บ่นว่าได้สั่งไม้อัดอย่างดีชนิดที่ใช้ต่อเรือใบมาสร้างเครื่องบินนี้ก็ยัง ชำรุดจนได้ ผมระลึกถึงเครื่องบินสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเคยได้ชมที่กองทัพอากาศเมื่อเดินทางไกลไปดอนเมืองกับกองลูกเสือของ โรงเรียนอำนวยศิลป์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ และเป็นเครื่องบินที่สร้างด้วยไม้ ผ้า โครงลวด ฯลฯ เก็บอยู่ในโรงทั้งสิ้น ไม่ได้จอดกรำแดดกรำฝนไว้ แม้เครื่องบินทะเลของกองทัพเรือก็มีโรงเก็บอยู่ที่อ่าวจุกเสม็ด จะนำมาขึ้นเรือหลวงแม่กลอง ก็เมื่อจะออกเดินทางไปน่านน้ำต่างประเทศเท่านั้น และเมื่อกลับมาแล้วก็จะรีบนำไปเก็บไว้ในโรงตามเดิม การนำเครื่องบินมาไว้บนอนุสรณ์เรือหลวงแม่กลอง เพื่อให้ "ครบเครื่อง" จึงทำให้เครื่องบินต้องกรำแดดกรำฝนอีกทั้งลมตลอดเวลา จึงต้องผุกร่อนไปเป็นธรรมดา และควรหาวิธีสร้างโรงเก็บใกล้ ๆ เรือหลวงแม่กลองจะดีกว่า

คุณมนต์ชัย ฯ ยังรำลึกถึงปั่นจั่นคันเบ็ดสำหรับยกตัวเครื่องบินบนเรือหลวงแม่กลอง ว่า น่าจะมี "ให้ครบเครื่อง" เช่นเดียวกัน ผมจำได้ว่าเมื่อไปฝึกภาคกับเรือหลวงแม่กลอง ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ได้ฝึกขึ้นเสาที่เสาท้ายทุกวัน รู้สึกว่าจะได้ถอดปั้นจั่นคันเบ็ดออกแล้ว แต่ยังจำได้ว่าในหนังสือ "การเรือเล่ม ๓ ของโรงเรียนนายเรือ" ซึ่งผมเรียนใน พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้นมีรูปและแบบแปลนแสดงวิธีการตั้งปั้นจั่นคันเบ็ดยกเครื่องบินของเรือหลวง แม่กลองอยู่ด้วย ตำราการเรีือเล่มนี้เป็นเรื่องของอุปกรณ์การเรือต่าง ๆ ในเรือฝึกชุดเรือหลวงแม่กลอง เช่น ซาลล็อก (S.A.L. LOG)  ดิ่งน้ำลึก ฯลฯ แต่เวลานี้คงจะหาหนังสือเล่มนี้ได้ยาก นอกจากจะมีหลงเหลืออยู่ที่คลังตำราหรือห้องสมุดที่ไม่รังเกียจหนังสือเก่า ๆ จึงยังไม่ได้รุทำลายเสีย แม้ตำราการเรือที่ครูในโรงเรียนนายเรือรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยที่ผมไปรับ ราชการที่โรงเรียนนายเรือใน พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ก็ได้แก้ไขตัดทอนมาจากตำราเดิม (ทั้งของโรงเรียนนายเรือ และ โรงเรียนชุมพลทหารเรือ) มีเฉพาะเรื่องที่ใช้การในเวลานั้นเท่านั้น

หลังจากนั้นจึงได้ไปเดินชมอุทยานประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ

ผู้ใดเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ นี้ขึ้น ขอได้รับความยกย่องและสรรเสริญจากผมด้วยความจริงใจในความอุตสาหะของท่าน ผมไม่เคยชม "อุทยานประวัติศาสตร์ ฯ" เช่นนี้ในต่างประเทศจึงไม่สามารถวิจารณ์หรือเปรียบเทียบได้นอกจากข้อสังเกต เล็ก ๆ น้อย ๆ ดังจะกล่าวต่อไป

ผมได้เห็นปืนที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่เข้ามาร่วมเครือนาวี และรับราชการ ปืนนี้มีลักษณะคล้ายกับปืนกลแกตลิง  (GATLING)  คือมีลำกล้อง ๕ ลำกล้อง รวมมัดอยู่ด้วยกัน ขาตั้งเป็นเหล็กและไม้ผสมกัน ลำกล้องโต ๓๗ มิลลิเมตร (ดูรูป)


ผมพยายามทบทวนความจำเรื่องที่เคยพบในเอกสารเก่า ๆ ที่เคยค้นคว้า นึกได้ว่าในรายการของพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ เมื่อลาออกจากประจำการใน พ.ศ. ๒๔๔๔ (เอกสารรัชกาลที่ ๕ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แฟ้ม ก.๑๔/๗๘) ซึ่งมีรายการของเรือ บัญชีอาวุธต่าง ๆ ฯลฯ นั้น มีปืนชนิดหนึ่งซึ่งผมไม่รู้จักคือ  HOTCHKISS 37 mm. REVOLVING GUN  และผมเคยทึกทักเอา ว่าคงจะเป็นปืนยิงเร็วของบริษัทฮอตช์คิสขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร แต่ในบัญชีเดียวกันก็มีปืน  HOTCHKISS 37 MM. QUICK - FIRING GUN  อยู่ด้วย ผมจึง "มืดแปดด้าน" สันนิษฐานไม่ได้ว่าเป็นปืนอะไร มาได้พบของจริงในครั้งนี้เอง เพื่อให้เรื่องของปืนนี้ต่อเนื่องกันจึงขอเล่าต่อไปเลยว่าเมื่อกลับถึงบ้าน แล้ว ผมได้ค้นเรื่องที่จดมาจากเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงพบว่ามีการกล่าวถึงปืนนี้ ๒ ครั้ง ด้วยกันคือ

๑.  ในรายงานของกรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน (ก่อนการรบกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยาเดือนเศษ) กล่าวถึง "เรือมกุฏราชกุมาร" ว่ามี "ปืนฮ๊อตกิ๊ศ หมุนได้รอบ ๒ กระบอก" "ปืนแค๊ตลิง ๓ กระบอก" นอกนั้นเป็น "ปืนอามสตรอง ยัดท้าย" (บรรจุกระสุนทางท้ายกระบอก) ทั้งสิ้น (เอกสารรัชกาลที่ ๕ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแฟ้ม ก.๑๔/๗) แสดงว่าปืนนี้คงได้ใช้ยิงกับฝรั่งเศสที่ตีฝ่าปากน้ำเจ้าพระยา ใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) แต่อาจไม่ใช่ปืนกระบอกที่ตั้งแสดงอยู่นี้

๒.  ในรายงานของพระยาชลยุทธโยธินทร์ (แฟ้ม ก.๑๔/๗๘) ที่กล่าวมาแล้วปรากฏว่ามีปืน  HOTCHKISS 37 MM REVOLVING GUN  นี้อยู่ทั้งหมด ๗ กระบอก และใน พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น ติดตั้งบนเรือรานรุกไพรี (ดัดแปลงเปลงจากเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ เป็นเรือปืน) ๒ กระบอกในเรือหาญหักศัตรู (ลำที่ ๑ เคยทำการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาใน ร.ศ. ๑๑๒) ๒ กระบอก ในเรือเทวาสุราราม (จัดเป็นเรือปืน ต่อด้วยไม้ในกรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ระวางขับน้ำ ๑๑๕ ตัน) ๒ กระบอก อยู่ที่ "โรงหล่อ" (กรมอู่ทหารเรือ สมัยนั้นเป็นทั้งโรงซ่อมเรือคลังสรรพาวุธ โรงงานทำลูกปืนด้วย) ๑ กระบอก

กรมทหารเรือสั่งปื่นชนิดนี้เข้ามาใช้เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ต้องก่อน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) แน่ เพราะใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ติดตั้งในเรือมกุฏราชกุมาร ๒ กระบอก ดังกล่าวแล้ว ในเรือพระที่นั่งมหารจักรี (ลำที่ ๑) ซึ่งสร้างและติดอาวุธมาจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ไม่ได้ติดปืนชนิดนี้สำหรับปืนยิงเร็ว  (QUICK FIRING GUN)  ขนาด ๑๒๐/๔๐ มิลลิเมตร ขนาด ๕๗/๔๐ มิลลิเมตร (ปืน ๖ ปอนด์) และขนาด ๓๗/๒๐ (ปืน ๑ ปอนด์) ซึ่งได้สั่งซื้อเข้ามาเปลี่ยนปืนใหญ่เก่าในเรือรบนั้น ได้สั่งเข้ามาในสมัยที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติติวงศ์ทรง "รั้งตำแหน่ง" ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕) (เอกสารรัชกาลที่ ๕ แฟ้ม ก. ๑๔/๔)

ฉะนั้นคำอธิบายปืนชนิดนี้จึงควรเขียนใหม่ว่า "ปืนฮอตช์คิส ๓๗ มิลลิเมตร หมุนได้รอบ  (HOTCHKISS 37 MM. REVOLVING GUN)  เคยติดตั้งในเรือหลวงมกุฏราชกุมาร (ลำดับที่ ๑) ในการรบกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ใน ร.ศ. ๑๑๒" การที่ตั้งปืนนี้ไว้ใกล้ปืนกลแกตลิงนั้น นับว่าเหมาะสม เพราะเป็นปืนที่ใช้ในสมัยเดียวกัน และยังเคยติดตั้งในเรือรบลำเดียวกัน

ข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ได้จากอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ ก็คือ

๑.  ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ที่กองทัพเรือซื้อมาใช้ในกองต่อสู้อากาศยาน ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่นำมาแสดงไว้นั้น ได้ตัดส่วนฐานของปืนออกหมดเหลือแต่แท่น (หรือ "ตอ") ที่รองรับลำกล้องปืน ดูเผิน ๆ คิดว่าเป็น "ปืนเรือ" ส่วนที่ทำให้จำได้คือ "ลูกเลื่อน" ซึ่งเป็นแบบเปิดปิดเอง  (SEMI - AUTOMATIC) เช่นเดียวกับปืน ๗๕/๕๑ มิลลิเมตรโบฟอร์สสภาพเดิม ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร นี้ เป็น "ปืนบก" คือมีขาแยกออกไป ๕ ขา และมีหลักสำหรับตรึงกับพื้นในเวลาตั้งยิง เวลาเคลื่อนที่ก็รวบขาเข้าด้วยกันด้านหนึ่ง ๒ ขาอีกด้านหนึ่ง ๓ ขาแล้วหมุน "หะเรีย" ตัวปืนลงมาวางที่ขาเพื่อไม่ให้สูงโงนเงนในเวลาลากไป ฯลฯ แต่ปืนที่นำมาตั้งไว้นั้น ผมคิดว่านักเรียนนายเรือที่เคยประจำปืนนี้ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ มาพบเข้าก็คง "จำไม่ได้" เหมือนกัน เรื่องของปืนนี้จะได้กล่าวถึงในตอนท้ายอีกครั้งหนึ่ง

๒.  ลำกล้องของปืนใหญ่ขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร หายไป คิดว่าคงเป็นฝีมือของ "พ่อค้าเศษเหล็ก" แม้จะอยู่ในเขตทหารก็ตาม

๓.  ตอร์ปิโดขนาด ๔๕ เซนติเมตร ที่นำมาวางไว้ลูกหนึ่งเป็นตอร์ปิโดที่มี "ครีบข้าง" อย่างเดียว ไม่มีครีบที่ส่วนบนของลูกตอร์ปิโด (สำหรับแขวนตอร์ปิโดในท่อยิง) จึงแน่ใจว่าเป็นตอร์ปิโดแบบ ๔๕ ง. ที่สั่งมาพร้อมกับเรือยามฝั่งลำแรกที่ซื้อจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๖ หรือ เรือหลวงหาญหักศัตรู (ลำที่ ๒) เพราะเรือยามฝั่งที่ซื้อจากอังกฤษ ชุดต่อมาคือเรือยามฝั่งหมายเลข ๓, ๔ และ ๕ นั้น คงจะไม่ได้ซื้อตอร์ปิโดมาด้วย เพราะในเวลาใกล้ ๆ กัน กองทัพเรือได้ซื้อตอร์ปิโดแบบ ๔๕ จ. จากเดนมาร์กมาใช้ ตอร์ปิโดแบบนี้ติดได้ทั้ง "ครีบข้าง" และครีบที่ส่วนบนของลูก เมื่อผมเรียนตอร์ปิโดแบบนี้เมื่อเป็นนักเรียนนายเรือชั้นที่ ๒ ครูอธิบายว่า เพื่อให้ใช้ได้ทั้งกับเรือยามฝั่งและเรือตอร์ปิโด

๔.  ปืนใหญ่สนามที่ตั้งไว้ เป็นปืนใหญ่สนามกรุปป์  (KRUPP)  ขนาด ๘๗ มิลลิเมตร ที่ซื้อมาในรัชกาลที่ ๕ และใช้เป็นปืนใหญ่ประจำป้อมต่าง ๆ ไม่ใช่ปืนใหญ่ของทหารนาวิกโยธิน ตามบัญชีสรรพาวุธ ฯ พ.ศ. ๒๔๔๔ ปืนชนิดนี้ประจำอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ๒ กระบอก ป้อมผีเสื้อสมุทร ๖ กระบอก ป้อมแผลงไฟฟ้า (พระประแดง) ๘ กระบอก อยู่ที่ภูเก็ต ๑ กระบอก ในเวลานั้น ยังไม่มีทหารพรรคนาวิกโยธิน แม้จะมี "ทหารมะรีน" อยู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า ".....ให้เก็บลูกหมู่มอญขึ้นอีก ก็ยกเป็นทหารมะรีนมีอยู่ร้อยคน ไม่ได้รับราชการอันใด นอกจากรับเสด็จฟากข้างโน้น" สำหรับปืนใหญ่ของกองพันนาวิกโยธิน เมื่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๕ (เดิมเป็นกองร้อยปืนใหญ่) นั้นใช้ปืนใหญ่ภูเขาแบบ ๖๓ หนึ่งกองร้อย และปืนสนามโบฟอร์สขนาด ๗๕/๔๐ มิลลิเมตร ๒ กองร้อย (๘ กระบอก) ปืนใหญ่โบฟอร์สของแบ่งมาจากที่กองทัพบกซื้อ (พบในรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ)

อาวุธที่สมควรนำมาแสดงเพิ่มขึ้นคือ อาวุธที่ใช้ยิงกับข้าศึกมาแล้ว ซึ่งมีไม่มากนัก คือ

ปืนกลต่อสู้อากาศยานแมดเสนแท่นคู่ขนาด ๒๐ มิลลิเมตร ประจำเรือหลวงสุราษฎร์ ที่ได้ยิงเครื่องบินแบบ บี. ๒๔ ของพันธมิตรที่มาทิ้งทุ่นระเบิดหน้าอ่าวสัตหีบตกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ผมได้เคยสนทนากับเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือได้ทราบว่าบัญชีสรรพาวุธเดิมยังมี อยู่ จึงน่าจะตรวจสอบได้ว่าเป็นปืนหมายเลขอะไร เรื่องยิ่งเครื่อ บี. ๒๔ ตกนี้มีหลักฐานจากคำให้การของนักบินที่ถูกยิงตกว่าถูกลูกปืนกลขนาด ๒๐ หรือ ๒๕ มิลลิเมตรจนไฟไหม้ตกลงในอ่าวสัตหีบเวลานั้นในอ่าวมีเรือหลวงสุราษฎร์ลำเดียว ที่ติดปืนกลนี้และได้ยิ่งต่อสู้เครื่องบิน ผมเป็นนักเรียนรายเรือชั้น ๕ ได้เห็นเหตุการณ์นี้เอง แต่กว่าจะได้หลักฐานยืนยัน เวลาก็ล่วงมาจนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้เขียนเรื่องนี้ให้วารสาร "กระดูกงู" ไปแล้ว

-  ปืนใหญ่ขนาด ๗๕/๕๑ มิลลิเมตร ที่มี "แผล" หรือรอยถูกสะเก็ตกระสุนปืนที่ลำกล้อง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นปืนใหญ่ของเรือหลวงธนบุรี หรือเรือตอร์ปิโดใหญ่ที่ทำการรบกับฝรั่งเศสที่เกาะช้าง ปืนใหญ่ขนาด ๗๕/๕๑ มิลลิเมตร มีตั้งแสดงอยู่แล้วแต่ผมไม่ได้ไปดูใกล้ ๆ จึงไม่ทราบว่ามีรอยกระสุนปืนที่ว่านี้หรือไม่

-  ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ของกองต่อสู้อากาศยาน ซึ่งได้ยิงต่อสู้เครื่องบินข้าศึกทั้งที่กรุงเทพ ฯ และ สัตหีบ ที่มี "ขาตั้ง" ครบถ้วนซึ่งน่าจะพอหาได้ดังจะกล่าวต่อไป

การชมอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ ทำให้ผมระลึกถึง คุณครูพลเรือเอก อนันต์  เนตรโรจน์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผมรู้สึกว่า ท่านเป็นผู้มีความคิดในเรื่องนี้เป็นคนแรกในกองทัพเรือ

กลาง พ.ศ. ๒๕๐๔ ผมได้รับคำสั่งให้ไปเป็นเสนาธิการสถานีทหารเรือสัตหีบ ผู้บังคับบัญชาของผมคือ พลเรืือโท อนันต์  เนตรโรจน์ ที่ปรึกษากองทัพเรือและรักษาราชการผู้บังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบและรักษา ราชการผู้บังคับการกองการฝึก กองเรือยุทธการ อีก ๒ ตำแหน่ง พลเรือตรี หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ  ดิศกุล ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน เป็นรักษาราชการรองผู้บังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบด้วย

ที่บริเวณที่ราบติดกับเนินเขา ตรงทางที่จะเลี้ยวจากถนนริมทะเลขึ้นไปผ่านบ้าน น.๑ และบ้านพักพันจ่า มีปืนใหญ่เก่า ๆ ตั้งอยู่หลายชนิด หลายกระบอก ผมได้แวะเข้าไปดูใกล้ ๆ จึงเห็นว่า เป็นปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ของกองต่อสู้อากาศยานที่ยุบเลิกไปแล้ว ตั้งในท่าตั้งยิงและท่าเคลื่อนย้าย ๘ - ๑๐ กระบอก ปืนใหญ่ ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร โบฟอร์สที่มี รอยถูกกระสุนปืนที่ลำกล้อง ๒ หรือ ๓ กระบอก ปืนใหญ่สนามขนาดโตกว่า ๗๕ มิลลิเมตร (ต่อมาจึงทราบว่าเป็นปืนใหญ่สนามเก่าของป้อม) ปืนใหญ่ขนาด ๓๗/๒๐ มิลลิเมตร และปืนอื่น ๆ อีก ซึ่งเวลานี้นึกไม่ออก 

ต่อมา นาวาตรี ทวี  ภู่เพ็ชร์ (อดีตนักดำเรือดำน้ำ ต่อมาเป็นนาวาโท) ซึ่งเป็นนายคลังเสบียง กองพลาธิการ (ทำหน้าที่ "เตรียมเสบียง" ที่จะส่งให้แก่เรือ คือ เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ฯลฯ และปลูกผัก) ได้มาขอให้ผมช่วยเรียนผู้บังคับการ ฯ "ขอปืนเก่า" ไปตั้งไว้ที่ในบริเวณที่ "ทำงาน" ของท่านสัก ๑ - ๒ กระบอก เพราะท่านให้เหตุผลว่าได้พยายามทำให้ทหารของท่านมีการฝึกเพิ่มจากการงานปกติ จัดตั้งเสาธงราชนาวีเพื่อทำพิธีธงขึ้นธงลง ฯลฯ ถ้ามีปืนเก่า ๆ ไปตั้งไว้บ้างก็จะดีขึ้น และยังเป็นสถานที่ที่ผู้มาเที่ยวสัตหีบได้ถ่ายรูปกับ "ปืน" เป็นที่ระลึก เพราะในบริเวณสถานีทหารเรือสัตหีบทางด้านอ่าวที่จอดเรือ "ห้ามถ่ายรูป"

ผมจึงนำความไปเรียนคุณครู พลเรือเอก อนันต์  เนตรโรจน์ ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า

"ตามแผนผังหลัก  (Master Plan)  ของสถานีทหารเรือสัตหีบที่กำหนดไว้นั้น ต่อไปจะย้ายบ้านพักออกไปนอกบริเวณที่ตั้งบ้านพักในเวลานี้ทั้งหมด เหลือไว้แต่บ้าน น.๑๒ ซึ่งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของผู้บังคับการ ฯ บ้านเดียว เพื่อไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณที่ทำการหรือบริเวณอ่าวโกงกาง (คุณครู อนันต์ ฯ ท่านจะเรียกบริเวณที่มีท่าเทียบเรือในปัจจุบันว่า "อ่าวโกงกาง" ส่วนอ่าวสัตหีบนั้นคือบริเวณหน้าหมู่บ้านสัตหีบ) ซึ่งจะมองเห็นเรือในอ่าวสัตหีบได้ บริเวณบ้านพักที่รื้อออกไปตั้งแต่บ้าน น.๑๓ ไปนั้น ท่าตั้งใจว่าจะทำเป็น  "สวนปืน"  (Armoury Park)  แบบที่ท่านได้เห็นมาในต่างประเทศ โดยจะนำปืนใหญ่เก่า ๆ ที่ "ปลดระวาง" แล้วมาตั้งไว้ ทำบริเวณให้เป็น "สวน"  (Park)  ให้ผู้ที่มาเที่ยวสัตหีบได้ชมและเป็นที่พักผ่อน โดยไม่เห็นเรือในอ่าวโกงกาง ท่านจึงได้ขออนุมัติ "ปืนเก่า" จากกองทัพเรือมาสะสมไว้ตามที่ผมได้เห็นอยู่แล้ว เพื่อจะได้ตั้งใน "สวนปืน" ท่านจึงไม่อนุมัติให้นำปืนไปตั้งที่บริเวณคลังเสบียง เพราะเห็นว่าปืนเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปเสีย"

คุณครูพลเรือเอก อนันต์  เนตรโรจน์ ท่านมีความตั้งใจจริงในเรื่องนี้ เพราะในระหว่างที่ผมรับราชการเป็นเสนาธิการสถานี ฯ ท่านได้รายงานขอไฟฉายขนาด ๑๕๐ เซนติเมตร ของกองต่อสู้อากาศยานเดิม ซึ่งกรมอู่ทหารเรือได้ประกาศขายเลหลังเป็นของชำรุดและเหลือใช้ โดยให้ผมเป็นผู้นำรายงานไปติดต่อกับกรมอู่ทหารเรือ และได้รับไฟฉายนี้มา ๒ ดวง นำไปเก็บไว้ที่ใต้ถุนอาคารที่ทำการแผนกพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง อยู่ใกล้ ๆ เรือนจำ ซึ่งท่านคงคิดจะนำไปเข้า "สวนปืน" ในอนาคตของท่าน


ผมย้ายจากสถานีทหารเรือสัตหีบในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากนั้นได้มาราชการที่สัตหีบเป็นครั้งคราวได้เห็น "ปืนใหญ่ขนาด ๙ นิ้ว" อยู่ที่วงเวียนหน้ากองบังคับการ ซึ่งต่อมาผมได้พบหลักฐานว่า ปืนกระบอกนี้เป็นปืนใหญ่ประจำเรือหาญหักศัตรู (ลำที่ ๑) ได้ใช้ยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยาใน ร.ศ. ๑๑๒ ผมได้คัดลอกรายการย่อของปืนจาก "แผ่นทองเหลือง" ที่ติดอยู่ที่ปืนไว้ ต่อมาปรากฏว่าแผ่นทองเหลืองนี้หายไป

ปืนที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาที่คุณครูพลเรือเอกอนันต็์  เนตรโรจน์ ตั้งใจจะนำไปไว้ใน "สวนปืน" ของท่านจะถูกนำไปจากบริเวณนั้นไปไว้ที่ใด เมื่อใด ผมไม่ทราบและไม่ได้ติดตามสอบถาม แต่เชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดนำ "ปืนเก่า ๆ" เหล่านี้ออกไปนอกบริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ แต่ถ้าจะมีการ "ขายเป็นเศษเหล็ก" ไป ก็อาจเป็นไปได้ ผมจึงคิดว่าน่าจะลองค้นหาปืนต่อสู้อากาศยาน ๗๕/๔๑ มิลลิเมตร ที่ยังมี "ขาตั้ง" สำหรับยึดปืนและลากปืนในเวลาเคลื่อนที่ มาตั้งแสดงให้ "สมบูรณ์" ได้

สำหรับไฟฉายขนาด ๑๕๐ เซนติเมตรที่กล่าวมานั้น ผมได้เห็นกระจกเงาวงกลมของ ไฟฉายที่ติดอยู่ที่เวทีของสโมสรฐานทัพเรือสัตหีบ เครื่องประกอบอื่น ๆ ที่ขอจากกรมอู่ทหารเรือ มาด้วยกัน คือ แท่นตั้ง ล้อเลื่อน ฯลฯ คงเป็น "เศษเหล็ก" ไปเรียบร้อยแล้ว

หากคุณครูพลเรือเอก อนันต์  เนตรโรจน์ จักมีญาณวิถีทราบถึง "อุทยานประวัติศาสตร์" นี้ ท่านก็คงจะมีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่งที่ความคิดริเริ่มของท่านเมื่อหลายสิบ ปีมาแล้ว ได้เป็นของจริงขึ้นมาเป็นที่ประจักษ์ของทหารเรือรุ่นลูกหลาน แม้จะไม่ใช่ที่สัตหีบตามความตั้งใจเดิมของท่านก็ตาม

เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ "เกิดขึ้นแล้ว" ผู้รวบรวมจึงต้องศึกษาหรือค้นหาจากหลักฐานที่เห็นว่าเชื่อถือได้ บางเรื่องได้รวบรวมไปแล้ว แต่ต่อมาได้พบหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นอีก ก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องหรือดีขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้จากประวัติศาสตร์ทางเรือของไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "กิจการกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่ ๒" ซึ่งแผนกที่ ๓ กรมเสนาธิการทหารเรือ (กรมยุทธการทหารเรือในปัจจุบัน) ได้รวบรวมพิมพ์ด้วยกระดาษพิมพ์บางและเย็บปกกระดาษแจกจ่ายหน่วยต่าง ๆ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑ ความตอนหนึ่งว่า

"ก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาประมาณ ๒ หรือ ๓ สัปดาห์ กองทัพเรือได้จัด "กองเรือตรวจอ่าว" ในบังคับบัญชาของ นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธร (ต่อมาเป็นพลเรือตรี ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) ประกอบด้วยเรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ และเรือลำเลียง ไปลาดตระเวณกวาด  (Sweep)  อ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้แล่นตรวจจากก้นอ่าวลงไปจนถึงสงขลา ได้พบเรือสินค้าญี่ปุ่น ๑ ลำ จอดอยู่นอกทะเลอาณาเขต (๓ ไมล์จากฝั่ง) เปิดไฟสว่าง กองเรือไม่ได้ทำการตรวจค้นเพราะอยู่นอกทะเลอาณาเขตและคลื่นลมแรงมาก กองเรือได้แล่นเลี้ยวขึ้นมาสู่บริเวณเกาะช้าง เกาะกูด ฯลฯ"

เรื่องของ "เรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้" ที่ปรากฏในรายงานมีเพียงเท่านี้ ไม่มีหลักฐานว่า เรือลำนี้มาจอดเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด แต่ไม่ใช่เพื่อ "นำทาง" ให้แก่เรือยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เพราะในวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลานั้น ไม่มีเรือลำนี้

ผมรับหน้าที่บรรยายวิชาประวัติการยุทธทางเรือ ในโรงเรียนนายทหารเรือใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้พยายามค้นเรื่องราวเกี่ยวกับการยกพลขึ้นบกและการโจมตีประเทศไทยทั้งของ ฝ่ายพันธมิตรและญี่ปุ่น จากหลักฐานที่มีอยู่ในเวลานั้นคือ หนังสือ  The War At Sea  ของอังกฤษ รายงานการสอบสวนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นหนังสือประวัติการยุทธของ กองทัพเรืออังกฤษ  (Battle Summary)  รายงานของนายพลเพอร์ซิวาล แม่ทัพบกอังกฤษในมลายู (เกี่ยวกับการบุกประเทศไทย) ฯลฯ ได้รวบรวมเป็นคำบรรยายได้ ๒ เล่ม และไม่พบเรื่องราวของเรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้

ผมได้ไปศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรืออังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พยายามค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อมีเวลาว่างจากห้องสมุดของโรงเรียน จาก Battle Summary  ที่มีอยู่มากกว่าในห้องสมุดของโรงเรียนนายทหารเรือของเรา จากวารสารทหารเรือสมัย ค.ศ. ๑๙๔๔ - ๑๙๔๕ ฯลฯ ได้พบนายทหารเรือที่มาทำการโจมตีภูเก็ต กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ก็ไม่ได้รายละเอียดมากนัก เพราะท่านจำไม่ได้ผมได้รายงานขอให้ท่านผู้ช่วยทูตทหารเรือ (พลเรือจัตวา อภัย  สีตะกลิน ต่อมาเป็นพลเรือเอกถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) ขอซื้อหนังสือ  Battle Summary  ที่ยกเลิกชั้นความลับแล้วทั้งหมด จากทบวงทหารเรืออังกฤษ ท่านได้รับตอบว่าไม่สามารถขายให้ทั้งหมดได้ แต่ให้ระบุเรื่องที่ต้องการเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อไม่มีบัญชีชื่อเรื่องของ  Battle Summary  ผมจึงได้แต่จดรายการเรื่องที่มีอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ อังกฤษให้ท่าน และก็ได้รับมาตามที่ขอซื้อ (ไม่มีเรื่องการโจมตีภูเก็ต)

ผมต้องบรรยายวิชาประวัติการยุทธ์ในโรงเรียนนายทหารเรืออีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้ปรับปรุงหัวข้อการบรรยายตามแบบที่ได้เรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหาร เรือ และโรงเรียนยุทธวิธีของอังกฤษ หลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นคือหนังสือ  The War Against Japan Vol.3  และหนังสือที่นายทหารเรืออังกฤษเขียนจากประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของตนเอง แต่ครั้งนี้ได้แต่เขียนเป็น "คำบรรยาย" ได้เพราะเวลามีไม่พอ แม้จะได้รายละเอียดเกี่ยวกับกำลังญี่ปุ่นที่ทำการยกพลขึ้นบกในอ่าวไทยทั้ง ทางบกและทางเรือมากขึ้น ก็ยังไม่พบเรื่องของ "เรือสินค้าญี่ปุ่นที่มาจอดเปิดไฟสว่าง" ที่สงขลา

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้ ผมได้ซื้อหนังสือเก่าจากแผงลอยที่บริเวณนอกรั้วท่าราชวรดิฐเล่มหนึ่ง คือ "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี ประสิทธิ์ศิลป์  สัมพันธยุทธ" และได้ทราบเรื่องของเรือสินค้าญี่ปุ่นลำนี้


พลตรีประสิทธิศิลป์  สัมพันธยุทธเล่าไว้ในหนังสือว่า เมื่อใกล้จะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาใน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ท่านรับราชการเป็นผู้บังคับกองร้อยในกองพันทหารที่สงขลา ทุกคนได้คอยฟังเรื่องของสงครามทางวิทยุกระจายเสียงซึ่งมีข่าวว่า กองเรือญี่ปุ่นได้เดินทางมาสู่อ่าวไทยแล้ว ขณะนั้นมีเรือสินค้าญี่ปุ่นมา จอดเปิดไฟสว่างอยู่ในทะเลนอกเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ต่อมาก่อนญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบก ๓ - ๔ วัน ญี่ปุ่นได้เชิญนายทหารในกองพันตรวจสอบกับทางจังหวัดก็ได้ทราบว่าญี่ปุ่นได้ เชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตั้งแต่ข้าหลวงประจำจังหวัดลงมา ผู้บังคับกองตำรวจ ฯลฯ ไปรับประทานอาหารในเรือเช่นเดียวกัน ท่านกับผู้บังคับกองพันของท่านได้ปรึกษากันเห็นว่าขณะนั้นสถานการณ์ไม่น่า ไว้วางใจ ถ้าผู้บังคับบัญชาไปอยู่บนเรือญี่ปุ่นเสียหมด ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะไม่มีผู้สั่งการในกองพันของท่าน จึงตกลงกันว่าจะไม่ไปตามคำเชิญทั้งหมดแต่จะแบ่งกันไป ให้มีผู้บังคับบัญชาเหลืออยู่ พอที่จะสั่งการใช้กำลังทหารได้ เมื่อถึงวันกำหนดเชิญ ปรากฏว่าคลื่นลมจัดมาก ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งเรือเล็กมารับ "ผู้รับเชิญ" ที่ชายฝั่ง (แหลมสมิหรา) ได้ จึงไม่มีผู้ใดไป วันรุ่งขึ้นญี่ปุ่นได้ส่งผลไม้มาแจกจ่ายให้แก่ "ผู้รับเชิญ" ทุกคนแล้วเรือสินค้าญี่ปุ่นก็ออกไปจากชายฝั่ง หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่สงขลา

ข้อเขียนของ พลตรี ประสิทธิ์ศิลป์  สัมพันธยุทธ ทำให้เข้าใจเจตนาของญี่ปุ่นที่นำเรือมาจอดที่นอกฝั่งสงขลาได้ดี ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ "มืดมน" มากว่า ๔๐ ปี ถ้าพลตรี ประสิทธิ์ศิลป์ ฯ ไม่เขียนไว้ ก็คงต้อง "เดา" เรื่องนี้ต่อไปอีก

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จึงต้องไม่ท้อถอยและพยายามแก้ไขเพิ่มเติมตาม ข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมตลอดเวลา เรื่องที่ทำไว้แล้วก็ไม่ถือว่าบกพร่อง เพราะได้ทำตามหลักฐานที่ได้พบแล้วเท่านั้น

ผมขออุทิศส่วนดีของเรื่องนี้้บูชาพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหา ราช องค์บิดาของกองทัพเรือ ส่วนข้อบกพร่องต่าง ๆ นั้น ผมขอรับผิด และยินดีรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือค้นคว้าเพิ่มเติมได้มากกว่านี้

ที่มา : พลเรือเอก ประพัฒน์  จันทวิรัช : นาวิกศาสตร์ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑ - ๑๓

ม็อบ - มัน - หมา MAN OF WAR

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ผ่านมาได้มีม็อบหรือฝูงชนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังประมาณ ๓,๐๐๐ คน ใช้รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ร่วมกับรถอีแต๋นเดินทางจากภาคอีสานเข้ามายัง กรุงเทพฯ ล้อมทำเนียบรัฐบาลปักหลักเรียกร้องให้มีการประกันราคาน้ำมัน เพราะราคาตกต่ำไม่คุ้มทุนการปลูกมันที่ทำเอาไว้

ม็อบนั่งกินนอนกินอยู่นอกทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับเจรจาไปด้วย ได้เพียง ๓ วันก็เกิดเรื่องสุนัขตำรวจ ๔ ตัว กัดชาวม็อบบาดเจ็บไป ๑๐ กว่าคน เป็นข่าวไปทั่วโลก การเจรจาของฝ่ายม็อบได้เปลี่ยนเป้าหมายไปทันที จากเรื่องการประกันราคามันสำปะหลังเป็นเรื่องสุนัขกัดคน ฝ่ายม็อบให้ทางการหาตัวผู้สั่งการให้สุนัขตำรวจมาเผชิญหน้าม็อบจนเกิดการบาด เจ็บ ขอให้เอาชื่อเอาตัวมาให้ได้ พร้อมกับเดินขบวนไปยังสำนักงานสหประชาชาติเชิงสะพานมัฆวาน กล่าวหาฝ่ายรัฐบาลว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้เรียกร้องสิทธิโดยสุจริต และป่าเถื่อนที่เอาสุนัขมากัดคน รวมทั้งย้ำว่าไม่มีที่ไหนในโลกใช้สุนัขกับฝูงชนอย่างนี้


ผลของการเจรจาเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าฝ่ายม็อบผิดหวังไม่ได้ราคามันสำปะหลัง ตามที่ตั้งใจไว้ แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยเตือนฝ่ายรัฐบาลว่า - แล้วจะรู้สึกในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในสมัยหน้า ทางฝ่ายค้านได้ถือโอกาสนำภาพสุนัขตำรวจกัดพวกม็อบแจกจ่ายไปทั่วอีสาน และกล่าวประนามรัฐบาลเป็นการเรียกคะแนนเสียงตุนไว้ก่อน การเปลี่ยนเป้าหมายของม็อบจากเรื่องการประกันราคามันเป็นเรื่องสุนัขกัดคน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ได้ราคามันตามที่ตั้งใจไว้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการไม่ดำรงความมุ่งหมาย ที่ตามหลักการสงครามและการวางแผนทางทหารสอนไว้เป็นข้อแรกว่า เวลาวางแผนให้มองความมุ่งหมายไว้ทุกขั้นตอนอย่ากระพริบตา

สุนัขตำรวจกับผู้เลี้ยงหรือผู้กำกับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำงานของ ตำรวจ เช่นเดียวกับสุนัขสงครามของทหารที่มีไว้ช่วยงานบางอย่าง เมื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งงก็เป็นเช่นเดียวกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่น รถถัง ปืนใหญ่ เรือรบ เครื่องบิน ที่ต้องมีกระบวนการในการจัดหา การมีและการใช้จัดหาและมีตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ใช้ให้ถูกต้องกับสถานการณ์และงาน ไม่เช่นนั้นผลงานอาจออกมาในลักษณะสุนัขกัดม็อบอย่างเรื่องนี้

คนรู้จักนำสัตว์มาช่วยงานนานแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทั้งในด้านแรงงานและด้านอื่น ๆ ม้าลากรถ ควายไถนา ช้างลากซุง เป็นภาพที่เห็นกันอยู่ ส่วนงานด้านอื่น ๆ ที่สำคัญได้มาจากประสาทสัมผัสจองสัตว์บางชนิดที่มีความสามารถพิเศษกว่า มนุษย์ เช่น การมองเห็นในที่มืด การได้ยินเสียงบางเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยิน เป็นต้น เราอาจเคยได้ยินว่ามีหน่วยทหารในต่างประเทศเลี้ยงฝูงห่านเอาไว้เพื่อช่วย ระวังผู้บุกรุก เพราะห่านจะได้ยินเสียงจากผู้บุกรุกก่อนคน แล้วร้องเซ็งแซ่ขึ้นให้คนรู้ตัว สุนัขที่กล่าวกันว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์มาแต่โบราณกาล เพราะมนุษย์ใช้สุนัขทั้งด้านแรงงาน และด้านอื่น ๆ เช่น การลากเลื่อนบนหิมะ การล้อมต้อนฝูงสัตว์เลี้ยง ช่วยการล่าสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้การที่เป็นสัตว์ฉลาดฝึกได้ มีประสาทสัมผัสไวต่อรูป รส กลิ่น เสียง มีเขี้ยวเล็บที่ร้ายแรงสมตัว สุนัขจึงถูกนำมาใช้ช่วยงานมนุษย์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการตำรวจ ทหาร เป็นสุนัขตำรวจ เป็นสุนัขสงครามไป

ความต้องการประโยชน์จากการใช้สุนัขที่มิใช่ประโยชน์ด้านแรงงานประการแรก คือ การป้องปรามและข่มขวัญ การปรากฏตัวของสุนัขที่ท่าทางเอาเรื่องในพื้นที่เกิดเหตุทำให้ผู้คนเป้าหมาย คร้ามเกรง ทำนองเดียวกับการปรากฏตัวของเรือรบไปกดดันฝ่ายตรงข้ามว่าฉันมาแล้วนะ อีกประการหนึ่งได้แก่ การใช้ประสาทสัมผัสพิเศษของสุนัขในการรวบรวมหลักฐาน ทำการพิสูจน์ทราบการติดตามคนร้าย และเฝ้าระวังภัย ซึ่งได้ยินบ่อย ๆ ว่าใช้สุนัขดมกลิ่นหายาเสพติด หาวัตถุระเบิด ใช้สุนัขจำกลิ่นจากเสื้อผ้า รองเท้า ติดตามคนต้องสงสัย ใช้สุนัขช่วยการรักษาการณ์ เป็นต้น

ขั้นต้นในความต้องการจากสุนัขจึงอยู่ที่จะให้สุนัขทำอะไร บทบาทใด เช่นเดียวกับการคิดสร้างเรือใช้งานที่จะให้เรือลำนี้มีงานหรือบทบาทในการ ปฏิบัติการทางเรือ จะเป็นงานโจมตีผิวน้ำ ระดมยิงฝั่ง ปราบเรือดำน้ำ ล่าทำลายทุ่นระเบิด ลำเลียงพล ฯลฯ จะให้เรือลำนี้ออกทำงานได้โดยอิสระหรือร่วมกับเรืออื่น กับเครื่องบินหรือทั้ง ๒ อย่างที่จะต้องคิดออกมาให้ได้อย่างชัดเจน

สำหรับสุนัข ในชั้นต้นจึงเป็นการเลือกพันธุ์ที่เหมาะแก่งาน สุนัขบางพันธุ์ที่ตัวใหญ่แต่อุปนิสัยชอบซบคน ชอบอยู่กับคน แม้คนแปลกหน้า เหมาะแก่การเลี้ยงดูเล่นเท่านั้น สุนัขที่จะป้องปรามหรือข่มขวัญไปจนถึงต่อสู้กับคน เป้าหมายต้องการสุนัขที่ตัวโตพอสมควร มีสง่าน่าเกรงขาม ท่าทางดูเอาเรื่อง มีประสาทสัมผัสดี ข้อสำคัญสุนัขพันธุ์นั้นต้องเป็นสุนัขที่มีความจำดี รับการฝึกได้ ทำงานตามที่ฝึกไว้อย่างถูกต้องและตามที่ครูฝึกหรือผู้เลี้ยงสั่งการอย่าง เคร่งครัด ปรากฏว่าสุนัขที่เหมาะสมกับงานเหล่านั้น ได้แก่ พันธุ์ที่เคยใช้ช่วยในการเลี้ยงสัตว์ หรือล่าสัตว์ ซึ่งในกรณีม็อบมันสำปะหลังเป็นสุนัขเพศผู้พันธุ์เชพพาร์ด มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า ฟรังโก้ พีโม่ เชอรี่ และอิมโม อายุ ๕ ปีใกล้เคียงกัน เท่าที่ทราบไม่เคยฝึกและใช้สุนัขพันธุ์ไทยกับงานเหล่านี้เลย

ด้วยความรู้งู ๆ ปลา ๆ เรื่องสุนัขสงครามของผู้เขียน ประกอบกับหนังสือเรื่องสุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้ ของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์  ปราโมช ทำให้ทราบว่าสุนัขตำรวจและสุนัขสงครามจจะได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องทุกวัน และทำงานตามที่ผู้เลี้ยงหรือผู้กำกับสั่งการอย่างถูกต้อง และไม่ขาดไม่เกิน การสั่งการกระทำทั้งโดยเสียง โดยหน้าตา ท่าทาง และโดยเชือกผูกคอสุนัข ในการฝึกจะได้รับรางวัลหรือของกินเมื่อกระทำตามคำสั่งแล้ว ซึ่งสุนัขรู้ดีและจะกระทำการเพื่อให้ได้รับรางวัล นอกจากนี้สุนัขมีสัญชาตณานปกป้องอันตรายต่อนาย หรือผู้เลี้ยงของมันด้วย ญาติคนหนึ่งของผู้เขียนนอนให้หมอนวด ๆ โดยมีสุนัขเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ ในการพลิกตัวเปลี่ยนท่านวดครั้งหนึ่ง พอหมดตั้งท่าใช้มือจะขยำนวดก็โดนสุนัขกัดทันทีทั้งที่สุนัขกับหมอนวดเคยเห็น กันมาก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น การที่สุนัขกัดม็อบ อาจเกิดจากสัญชาตญานป้องกันภัยให้แก่ผู้เลี้ยงก็ได้ เพราะมีการถือไม้ ขว้างปาโคลนเข้าใส่ตำรวจอยู่เหมือนกัน

เมื่อสุนัขถูกนำไปเผชิญหน้ากับฝูงชนเจอเสียงที่ไม่เป็นมิตร กลิ่นสาบสาง และท่าทางอาการโกรธแค้นของฝูงชน สุนัขย่อมรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์จริง และต่อไปนี้จะกระทำการตามที่ได้รับการฝึกและการกำกับการจากผู้เลี้ยง สำหรับฝูงชนที่เห็นสุนัขท่าทางเอาเรื่องจึงเกิดปฏิกริยาตื่นตระหนก การชุมนุมประท้วงเปลี่ยนเป็นการชุลมุนวุ่นวาย แตกกระจาย ควบคุมกันไม่ได้ และผู้ที่อยู่ใกล้สุนัขจะถูกสุนัขทำร้ายเอาได้ตามที่เกิดเรื่องขึ้น จนเป็นเรื่องที่พูดกันมากว่า การใช้สุนัขกรณีนี้มีความเหมาะสมเพียงใด

ในการดำเนินการต่อฝูงชนจะด้วยประสงค์ควบคุมฝูงชนก็ดี สลายฝูงชนก็ดี ไปตนถึงปราบปรามก็ดี มีเครื่องมือที่ใช้ได้หลายอย่าง เช่น เครื่องกีดขวาง เครื่องฉีดน้ำ ปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฯลฯ ไปจนถึงการใช้สุนัข เช่นเดียวกับงานรักษาด่านในทะเล งานโจมตีเรือเป้าหมาย ฯลฯ จะใช้เรือประเภทใดบ้างจากเรือที่มีอยู่ เรือที่สร้างขึ้นสำหรับงานเฉพาะอย่าง เช่น งานกวาดทุ่นระเบิด งานวางทุ่นระเบิด จะนำไปใช้งานอื่นในสถานการณ์หนึ่งเวลาหนึ่งได้เหมาะสมเพียงไร ผู้สั่งการใช้เครื่องมือกระทำการอย่างนี้ย่อมต้องมีความรู้ ประสบการณ์ และศิลปการที่ต้องการหัวศิลปอยู่บ้างประกอบกัน การหาตัวผู้สั่งการที่มีคุณวุฒิอย่างนี้บางทีก็หายาก

การใช้สุนัขต่อฝูงชน จะต้องด้วยตามตำราหรือไม่ ไม่เห็นมีที่ไหนใช้กันตามที่บางคนกล่าวอ้าง มีประเด็นสำคัญตรงที่เป็นงานคนละแบบกับงานฟังเสียง ดมกลิ่น ติดตามคนร้าย แต่เป็นงานที่เป้าหมายเป็นฝูงชน ซึ่งผลของงานอาจออกมาในรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ งานอย่างนี้ต้องมีการวางแผนอย่างประณีตนับตั้งแต่ว่าเจตจำนงในการนำสุนัขไป ใช้คืออะไร เอาไปข่มขวัญ ? เอาไปป้องกันการบุกรุก ? ซึ่งผู้ทำงานได้แก่สุนัขกับผู้เลี้ยง สุนัขเป็นเครื่องมือของคนที่สั่งการมันโดยมันจะกระทำการตามที่ได้รับการฝึก ตามคำสั่งของผู้สั่งการที่มีอุปนิสัยเฉพาะตัว ดังนั้นจำเป็นต้องเลือกทั้งสุนัขทั้งคนที่มีวุฒิภาวะ และผ่านการฝึกมาด้วยกันอย่างถูกต้องสนิทแนบแน่น ไม่ใช่สุนัขตัวใด คนไหนก็ได้ สำหรับสุนัขทั้ง ๔ ตัวที่นำไปใช้ในครั้งนี้มีผลงานในอดีตน่าชื่นชมมากมายนับตั้งแต่การติดตามคน ร้ายชิงทรัพย์ ฆ่าเจ้าทรัพย์ ติดตามนักโทษฆ่าผู้บัญชาการเรือนจำกบินทร์บุรี ก่อนการหลบหนีไป บุกรังราชายาบ้ารายสำคัญ ๆ และก่อนม็อบมันสำปะหลังเพียง ๑ เดือน สุนัขทั้ง ๔ ตัว ถูกนำไปยังบริเวณสถานทูตพม่าในกรณีที่สถานทูตถูกนักศึกษาพม่าบุกยึด ซึ่งถ้าเหตุการณ์ไม่สงบลงด้วยดี ก็อาจมีข่าวสุนัขตำรวจกัดคนเกิดขึ้นก็ได้ที่ถนนสาทรก่อนเกิดขึ้นที่ทำเนียบ รัฐบาล

เหตุการณ์สุนัขทำร้ายฝูงชนที่ประท้วงเรื่องราคามันสำปะหลังนี้เป็นข่าวดัง ยิ่งกว่าการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลของฝูงชนก่อนหน้านั้นเสียอีก เพราะการเดินขบวนเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ๆ ยิ่งทั่วโลกกำลังเห่อหรือจับตาดูเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแบ่งชนชั้น การทารุณกรรมต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้แปลกแยกแนวความคิดทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นในทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ฯลฯ ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากชาวโลกทั่วไป หัวข้อหนึ่งในการอภิปราย ไม่ใช่เรื่อการประกันราคามันสำปะหลัง แต่มีีเรื่องสุนัขทำร้ายฝูงชนที่สะท้อนให้เห็นว่าการใช้สุนัขทำร้ายฝูงชนที่ สะท้อนให้เห็นว่า การใช้สุนัขกับฝูงชนไม่ใช่เรื่องธรรมดา ผิดตำราหรือเป็นการสมควรหรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลชนะหรือแพ้ในการอภิปรายนักสลายนักปราบปรามมวลชน ก็ไม่แน่ใจที่จะตอบ อย่างไรก็ดี คำตอบที่ถูกต้องมีแน่นอนแต่ไม่ใช่เวลานี้ ต้องดูเวลาภายหน้าที่เกิดมีม็อบอย่างนี้อีกแล้วมีสุนัขไปปรากฏตัวเผชิญหน้า ม็อบหรือไม่ ถ้าไม่มีก็แสดงว่าการใช้สุนัขกับฝูงชนไม่น่าใช้ มีทางเสียมากกว่าดี


เช่นเดียวกับการปฏิบัติการทางเรือในทะเล เรือแต่ละลำได้รับการออกแบบให้ดีเด่นในปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เด่นในการปราบเรือดำน้ำ เด่นในการโจมตีผิวน้ำ เด่นในการทุ่นระเบิด ฯลฯ แต่เรือก็มีความอ่อนตัวที่พอจะทำงานอื่นที่ตัวเด่นอยู่ได้ สุดแต่ผู้ใช้จะคิดอ่านเอา เรือทุ่นระเบิดอาจไปลาดตระเวนตรวจการณ์ เรือปราบเรือดำน้ำ เอาไประดมยิงฝั่ง เอาเรือดำน้ำไปลำเลียงทหารหรือส่งทหารขึ้นบกไปทำงาลับ ส่วนผลของงานถ้าออกมาแบบม็อบบาดเจ็บเพราะสุนัขได้เปลี่ยนบทบาทจากการข่มขวัญ ไปเป็นการโจมตีเป็นการแสดงว่าการนำเอาความอ่อนตัวในการทำงานของเครื่องมือ อย่างหนึ่งไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้เครื่องมืออย่างตรงกับเจตจำนงที่ออกแบบหรือสร้างมันขึ้นมายังง่ายกว่า เสียอีก

หลังจากม็อบมันสำปะหลังเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ๑๐ วัน หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ หลายฉบับได้ออกข่าวว่าทหารเรือกับทหารอากาศจะฝึกร่วมในการต่อต้านอาชญากรรม ทางทะเล หรือโจรสลัดในปลายเดือน โดยทางทหารเรือจะใช้เรือฟริเกต ๑ ลำ เรือคอร์เวต ๑ ลำ และฝูงบินดอร์เนียจากฐานบินสงขลา ส่วนทหารอากาศจะส่งเครื่องบิน  F/A-5  จำนวน ๒๖ ลำ เครื่องบินขับไล่ ๑๖ ลำ และเครื่องบิน  L-30  จากฐานบินนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และสงขลาเข้าร่วมฝึกด้วย ตามข่าวว่าเรือประมงไทยถูกปล้นแล้วนำเรือไปเรียกค่าไถ่บ่อย ๆ ใกล้ชายแดนไทยกับกัมพูชา ค่าไถ่เรือแต่ละลำมากกว่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท พวกโจรมักใช้เรือเร็วที่มีเจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดออกปล้นสดมภ์ซึ่งพื้นที่ ฝึกครั้งนี้คงเป็นน่านน้ำระหว่างสงขลาชนกับทะเลของกัมพูชาตามปัญหาที่ตั้ง ขึ้นมา


ตามข่าวข้างต้นแสดงถึงการใช้เรือฟริเกตและคอร์เวตที่ปกติใช้งานปราบเรือดำ น้ำหรือโจมตีผิวน้ำ เป็นงานปราบโจรที่คงเป็นเรือเร็วขนาดเล็ก เมื่อเรือชนิดนี้ทำงานร่วมกับเครื่องบินลาดตระเวนอย่างดอร์เนียย่อมได้ผลใน ระดับหนึ่ง สำหรับเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงที่มีงานหลัก "ขับไล่" เครื่องบินข้าศึกหรือโจมตีเป้าภาคพื้นดินจะใช้กับเรือเป้าลำเล็กความเร็วสูง อย่างเรือโจรได้ดีเพียงใด ไม่อาจทราบได้ อย่างไรก็ดี เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการใช้ความอ่อนตัวของเรือและเครื่องบินไปทำงานที่ไม่ ใช่งานรบโดยตรง ผู้เขียนดูการประกอบกำลังในการฝึกทั้งของฝ่ายทหารเรือ และทหารอากาศแล้วคิดว่าขอบเขตจองการฝึกร่วมน่าจะมากกว่าการต่อต้านอาชญากรรม ทางทะเล แต่อาจจะรวมถึงการโจมตีเป้าหมายในทะเลที่มากกว่าเรือโจร บางทีอาจนึกถึงความรู้สึกของเพื่อนบ้านหากประกาศขอบเขตของการฝึกที่มากกว่า การปราบปรามเรือโจรก็ได้

มีหลายกรณีหลายครั้งที่เหยื่อของโจรสลัดไม่ใช่เรือประมงลำเล็ก ๆ แต่เป็นเรือเดินทะเลหรือเดินสมุทรลำใหญ่ดังที่ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เรือประมงไทยได้พบและช่วยลูกเรือเหยื่อโจรจากแพชูชีพในทะเลอันดามัน ส่งขึ้นบกที่ภูเก็ต เรือเหยื่อโจรตามเรื่องนี้ ชื่อ  Alondra Rainbow  มีนายเรือเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ  Ikono  กับลูกเรือชาวฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ๑๖ คน ออกเรือจากเมืองท่าใกล้เมืองเมดาน ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียในเช้าวันที่ ๒๒ ตุลาคม มุ่งหน้าไปยังญี่ปุ่น เรือบรรทุกแท่งอะลูมิเนียมหนัก ๗,๐๐๐ ตัน


หลังจากออกเรือได้ประมาณ ๒ ชั่วโมงก่อนเที่ยงก็ได้มีโจร ๑๐ คน ใช้เรือเร็วและตะขอเกาะเกี่ยวขึ้นเรือเหยื่อโดยลูกเรือไม่รู้ตัวนายเรือเล่า ว่าขณะนั้นเขาอยู่ในห้องพัก และเมื่อขึ้นไปยังสะพานเดินเรือจึงรู้ว่าเรือถูกพวกโจรยึดไว้แล้ว โจรมีปืนและมีดเป็นอาวุธ มัดมือปิดตาพวกลูกเรือทั้งหมด แล้วนำไปขังไว้ในห้องอาหาร โจรออกคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นสำเนียงมาเลย์ที่เอาแต่พูดว่า  I Kill You  ซ้ำซาก ในคืนวันแรกพวกโจรถามลูกเรือบ่อย ๆ ว่าใครมาจากไทย ใครเป็นลูกเรือคนไทยให้บอก ซึ่งนายเรือก็แปลกใจและไม่ทราบเหตุผลนี้ วันต่อมาได้มีการแบ่งลูกเรือออกเป็น ๒ กลุ่มแยกห้องกันอยู่ ตลอดสัปดาห์ของการกักตัว มีอาหารวันละ ๒ มื้อ ซึ่งในวันท้าย ๆ น้ำดื่มที่โจรนำมาให้เป็นน้ำสกปรก ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ลูกเรือได้ถูกแก้มัดออกแล้วให้ลงแพชูชีพที่มีอาหารอยู่บ้างกับน้ำประมาณ ๖๐ ลิตร แพชูชีพลอยในทะเลอยู่ ๑๑ วันจนถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน จึงมีเรือประมงไทยพบและช่วยนำส่งขึ้นบกดังกล่าวแล้ว นายเรือไม่ทราบชะตากรรมของเรือตนซึ่งคาดว่าเรือจะถูกนำไปขายในตลาดมืด นายเรือ  Ikono  ผู้เดินเรือทะเลมา ๔๐ ปี บอกว่าการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายของเขาแล้ว ซึ่งปฏิบัติการของโจรสลัดครั้งนี้ใกล้น่านน้ำไทยมากทีเดียว


ชะตากรรมของเรือ  Alondra Rainbow  ปรากฏในเวลาต่อมาว่าในวันเสาร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน เครื่องบินลาดตระเวนของหน่วยรักษาฝั่งอินเดียได้ตรวจพบเรือเหยื่อโจรและสั่ง ให้หยุดเรือ แต่เรือไม่ยอมหยุด ซึ่งหน่วยรักษาฝั่งไม่มีเรือและเครื่องบินที่จะใช้บังคับเรือเหยื่อโจรได้ จึงได้แจ้งไปยังทหารเรืออินเดียภาคตะวันตกที่บอมเบย์  (Western Naval Command)  ให้ดำเนินการต่อไป นายพลจัตวา  M.P. Taneja  เสนาธิการของหน่วยบัญชาการทหารที่บอมเบย์กล่าวว่า เรือรบได้สกัดเรือเหยื่อโจรขณะที่จะเข้าน่านน้ำทะเลอาหรับ โดยใช้ปืน  AK-630  และปืนกล ๗.๖๒ มม. ยิงขู่ปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมาจากเรือเป้าซึ่งเข้าใจว่า ลูกเรือพยายามทำลายหลักฐานทางเอกสาร มีสิ่งบอกเหตุว่าลูกเรือส่วนหนึ่งได้เปิดลิ้นกั้นน้ำเพื่อจมเรือ แต่พวกช่างกลสูบน้ำออกจากห้องเครื่องจักรใหญ่ เรือเหยื่อโจรถูกจับได้ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน โดยใช้เวลาติดตาม ๓ วัน ปรากฏว่าชื่อเรือได้ถูกทาสีใหม่เป็นชื่อ  Mega Rama  ของบริษัทเดินเรือ  Belize  ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าไม่มีเรือชื่อนี้ในบริษัท และเอกสารของเรือได้ถูกเผาทิ้งไป พวกโจรไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน และทางทหารเรือได้มอบให้หน่วยรักษาฝั่งดำเนินคดีต่อไป หน่วยรักษาฝั่งอินเดียตั้งขึ้นได้ ๑๘ ปีแล้ว มีเครื่องแบบของตนเอง ฐานะของหน่วยเหมือนของสหรัฐฯ


ก่อนหน้ากรณีเรือ  Alondra Rainbow  ไม่นาน เรือของไทยเองลำใหญ่ชื่อ สยามชาญชัย ของบริษัท สยามมงคลเดินเรือ จำกัด ได้ถูกโจรยึดเรือในวันที่ ๘ มิถุนายน ระหว่างบรรทุกน้ำมันจากสิงคโปร์มายังสงขลา พวกโจรไม่ทราบจำนวนได้ยึ่งเรือไว้แล้วกุมตัวลูกเรือเพียงหนึ่งคนไว้ในเรือ ส่วนลูกเรือนอกนั้นถูกลอยแพไป เรือน้ำมันถูกนำไปยังเมืองดาโร ในรัฐซาราวัค ของมาเลเซียก่อน จากนั้นจึงไปยังประเทศจีน ในระหว่างทางพวกโจรได้ขายน้ำมันในเรือในน่านน้ำสากลจนหมดแล้วไปทิ้งเรือไว้ ในน่านน้ำจีนตอนใต้ ซึ่งกงสุลไทยที่ซัวเถาได้แจ้งมายังกรุงเทพฯ ว่าเรือจอดอยู่ที่นั่น ทางจีนได้คืนเรือให้ฝ่ายไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน โดยมีร่องรอยว่าเรือได้ถูกทาสีเปลี่ยนชื่อเรือใหม่

ใกล้น่านน้ำไทยก่อนหน้ากรณีเรือสยามชาญชัย เรือสินค้าสัญชาติปานามาถูกโจรยึดเรือในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ในอ่าวไทย พวกโจรไม่ทราบจำนวนมีหน้ากากปิดหน้า ใช้อาวุธปืนกลมือยึดเรือไว้แล้วให้ลูกเรือลงเรือยางที่เรือประมงไทยไปพบเข้า ในภายหลัง ส่วนเรือเหยื่อโจรยังจับไม่ได้ และคงป้วนเปี้ยนเปลื่อนชื่อเรือ สัญชาติเรือ อยู่ในทะเลจีนใต้นี้เอง ก่อนหน้าเรือสยามชาญชัยไปอีก เช่นเรือสินค้าชื่อ  Anna Sierra  ถูกโจรยึดเรือในอ่าวไทย แล้วปรากฏว่าเรือได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรือเป็น  Artic Sea  เข้าเมืองท่า  Beihai  ของจีนครั้งหนึ่ง เรือลำนี้แล่นป้วนเปี้ยนอยู่ในทะเลจีนใต้นานประมาณ ๒ ปี โดยไม่ทราบว่าทำมาค้าขายอะไรในทะเล แต่พบในที่สุดว่า เรือถูกนำไปจอดทิ้งไว้นอกฝั่งจีนในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในสภาพที่หมดสภาพ ทางจีนพยายามเสาะหาเจ้าของเรือ แต่ไม่พบซึ่งเข้าใจว่าเจ้าของเรือจะทอดทิ้งแล้ว และเรือที่สนิมทั่วลำเรือลำนี้ยังจอดอยู่ในน่านน้ำจีนจนบัดนี้ นั่นก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมของโจรสลัด และพฤติการณ์ปล้นสะดมภ์เรือในทะเลที่เรือเคราะห์ร้ายเป็นทั้งเรือเล็กอย่าง เรือประมงและเรือสินค้าเดินทะเลลำใหญ่


ปัจจุบันในน่านน้ำไทยและใกล้เคียงเริ่มมีเรืออีกประเภทหนึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว ได้แก่ เรือสำราญ ที่บางลำใหญ่โตมโหฬารเดินเรือรอบโลก แล้วแวะเมืองท่าในไทยและบางลำขนาดเล็กที่มีเจ้าของเป็นคนไทยก็มี เรือเหล่านี้มักเดินเรือไม่ห่างฝั่งเพราะจอดแวะให้ผู้โดยสารขึ้นเที่ยวบนบก ด้วย ผู้โดยสารส่วนใหญ่มีอันจะกินถึงขั้นเศรษฐีที่แต่งตัวกันหรูหราสำหรับอาหาร มื้อเย็น ปรากฏว่าลำเล็ก ๆ ถูกปล้นกันบ้างแล้ว ดังเช่นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นเรือของออสเตรเลีย โดนเข้าในน่านน้ำของปาปัวนิวกีนี ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เรือสัญชาติฟินแลนด์ถูกปล้นนอกฝั่งโซมาเลียในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นเรือสัญชาติเยอรมัน ระหว่างเดินทางจากนิวซีแลนด์จะเข้ามหาสมุทรอินเดีย เรือขนาดย่อมเช่น เรือยอชต์ ก็โดนด้วยเช่นกัน ดังในวันที่  ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือยอชต์ชาติอังกฤษขณะเดินเรือรอบโลกถูกโจรถืออาวุธปล้นและยิงลูกเรือ ๑ ใน ๕ คนตายซึ่งต้องทำพิธีฝังศพในทะเล พฤติการณ์อย่างนี้คล้ายกับรถทัวร์ขนาดใหญ่ที่เดินทางข้ามคืนแล้วถูกโจรที่ อยู่ในคราบผู้โดยสารปล้นเอาสิ่งของมีค่าจากผู้โดยสารแล้วกระโดดรถหนีหายไปใน ความมืดนั่นเอง บางทีไม่ช้าก็เร็วอาจเกิดเหตุการณ์ปล้นเรือสำราญทั้งในทะเลอันดามันและอ่าว ไทยให้ทหารเรือไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นก็ได้ เพราะโจรมีหัวทำงานใหม่ ๆ เหมือนกัน

เกือบวันเดียวกับข่าวเรือประมงไทยช่วยเหลือลูกเรือเหยื่อโจรจากการถูกลอยแพ ในทะเลอันดามัน ก็ได้มีบทความในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ (บางกอกโพสต์) เกี่ยวกับการรับจ้างไล่ล่าโจรสลัดของบริษัทรับจ้างชื่อ  Maritime Risk Management S.A. (Liverpool)  ในประเทศอังกฤษ โดยเรือที่มาจ้างจะได้รับการติดตั้ง  Magic Boxes  ที่ใช้ดาวเทียมติดตามการเดินเรือตลอดเวลา ถ้าหากเรือลูกค้าเดินออกนอกเส้นทางเดินเรือที่กำหนดไว้อย่างผิดสังเกตก็จะ สงสัยไว้ก่อนว่าอาจถูกโจรปล้นแล้วตรวจสอบทันทีว่าเป็นไปตามที่สงสัยหรือไม่ เครื่องมือสำคัญที่บริษัทรับจ้างไล่ล่าโจรสลัดใช้ได้แก่เครื่องบินธรรมดา ๆ ไม่ใช่เครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง

สำนักงานการเดินเรือสากล  International Maritime Bureau (IMB)  ในกรุงลอนดอนได้รวบรวมข้อมูลความเสียหายจากโจรสลัดในทะเลทั่วโลกตกปีละ ๑ พันล้านนดอลลาร์สหรัฐฯ และเฉพาะ ๙ เดือนแรกของปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เกิดขึ้น ๑๘๐ รายความเลวร้ายของการปล้นสดมภ์ในทะเลไม่ไกลจากน่านน้ำไทยเลย ทั้งนี้  IMB  ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะภูมิภาค  Regional Piracy Centre  ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยศูนย์นี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเดินเรือและบริษัทประกันภัยในการจัด หาเครื่องมือตราทางด้วยดาวเทียม (เครื่องมือในการติดตามความเคลื่อนไหวของเรือต่าง ๆ ในทะเลโดยใช้สัญญาณดาวเทียม - กองบรรณาธิการ) ให้แก่เรือ จัดหา "สายด่วน" เรื่องโจรให้แก่นายเรือ และให้รายงานประจำวันเกี่ยวกับเรือที่ต้องสงสัยรวมทั้งร่วมมือในการสอบสวน กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกิดเหตุ แต่คนของศูนย์และการเงินมีจำกัดทำให้ยังป้องปรามภัยโจรสลัดได้ไม่สมบูรณ์


งานป้องปรามและปราบปรามโจรสลัดเป็นงานรองหรืองานข้างเคียงของเรือรบที่สร้าง ขึ้นมาสำหรับรบหรือปฏิบัติการทางเรือ เช่นเดียวกับการเผชิญหน้าหรือควบคุมฝูงชนเป็นงานรองของสุนัขตำรวจทั้งเรือ และสุนัขต่างเป็นเครื่องมือของคนประจำเรือและผู้ควบคุม เรือจะแล่นเรือและยิงปืนไปตามที่ลูกเรือบังคับการ สุนัขก็จะกระทำการไปตามที่ได้รับการฝึกและการสั่งการจากนายของมัน แต่ผิดกันที่สุนัขมีชีวิตขณะที่เรือไม่มี กรณีสุนัขกัดม็อบมันสำปะหลังมีบางคนเห็นว่าสุนัขโดนยั่วยุก็มี ถูกทำร้ายก่อน และป้องกันภัยให้นายก็มี บางคนเห็นว่าถ้าสุนัขเป็นผู้ผิดก็จะลงโทษสุนัข เอาสุนัขไปขังก็มี แต่โดยธรรมชาติสำหรับสุนัขที่ตระกูลดีได้รับการฝึกดีแล้วจะกระทำการตามที่ นายสั่งการโดยเคร่งครัด เมื่อสุนัขได้กระทำการอย่างใดไปแล้วจะคิดว่าตนได้ทำถูกต้องแล้วและจะได้รับ รางวัล ดังนั้นหากสุุนัขถูกทำโทษอย่างที่มีผู้กล่าวกันแล้ว โดยสัญชาตญาณจะทำให้ความเชื่อมั่นในตัวมันเสียไป รวมทั้งไม่เชื่อมั่นในการฝึกที่ได้รับมา และในตัวครูฝึกหรือผู้ควบคุมด้วย ดีไม่ดีเสียสุนัขไปเลย


แต่เรือไม่มีชีวิต เรือไม่ได้ดีใจหรือเสียใจ เมื่อยิงอาวุธถูกเป้าหรือเมื่อถูกยิงเราไม่อาจเอามือตบสะพานเดินเรือเพื่อ ให้การยิงนัดต่อไปถูกเป้า เราไม่อาจบนบานเสด็จเตี่ยช่วยให้เรือข้าศึกจมไป และเราคงทำได้เพียงบนบานใให้เรือและลูกเรือรอดปลอดภัยเป็นอย่างเก่ง เรือที่ได้รับการทะนุบำรุงให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ลูกเรือที่ได้รับการฝึกอย่างถูกต้องเชี่ยวชาญ และผู้สั่งการใช้เรือโดยเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็น ๓ ปัจจัยเท่านั้นที่จะประกันความสำเร็จในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานรอง หรืองานข้างเคียงของเรือที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติของเรือที่ได้รับการออกแบบมา งานที่ไม่ใช่การปราบเรือดำน้ำ โจมตีผิวน้ำแต่เป็นงานแบบเรือรบที่ไปทำงานสร้างสันติภาพ รักษาสันติภาพ ฯลฯ

ม็อบมันสำปะหลังเรียกร้องให้หาตัวผู้สั่งการให้นำสุนัขตำรวจไปเผชิญหน้ากับ ม็อบจนมีเรื่องและให้ลงโทษผู้สั่งการนั้นฐานใช้สุนัขผิดงาน แต่ผู้สั่งการใช้เรือผิดงานโชคดีกว่าเพราะคงไม่มีใครหาเรื่องว่าใช้เรือผิด งานแล้วไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ผลงานเนื่องมาจากไม่ได้เป็นเรื่องกับตาเห็นเหมือนคนถูกสุนัขกัดบาด เจ็บ การใช้เรือรบไปรบย่อมต้องใช้วิชาวางแผนทางทหาร  (Naval Planning)  เป็นปกติวิสัย แต่เรือรบที่ไปงานรองงานอื่นอย่างไปไล่ล่าจับโจร จับของเถื่อน คนเถื่อน ไปอวดธงหรือข่มขู่ผู้อื่นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไปกวาดล้างน้ำมันลอยฟ่องในทะเล ฯลฯ ไม่อาจใช้วิชาวางแผนทางทหารได้ถนัดนัก ซึ่งผู้สั่งการใช้เรือต้องอาศัยวิจารณญาน ทักษะ และวิชาการอื่น ๆ เอาเองว่าจะใช้เรือประเภทใด ลำใด คนพวกไหน


กรณีเรือเหยื่อโจรสลัด  Alondra Rainbow  ที่พวกโจรไล่พวกลูกเรือลงแพชูชีพแล้วนำเรือหนีไปจนถูกหน่วยรักษาฝั่งของ อินเดียตรวจพบก่อนและพยายามไล่จับแสดงว่างานไล่ล่าโจรในทะเลเป็นงานหลักของ หน่วยนี้ ผู้เขียนบังเอิญรับราชการอยู่ที่กรุงนิวเดลี ขณะที่หน่วยรักษาฝั่งอินเดียได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ผู้บัญชาการหน่วยคนแรกมาจากรองผู้บัญชาการทหารเรืออินเดีย ยศพลเรือโทในขณะนั้น เรือของหน่วยรักษาฝั่งก็ได้มาจากเรือของทหารเรือที่แบ่งมาให้ คนของหน่วยมีเครื่องแบบใหม่ของตนเองซึ่งก็เป็นทหารเรือย้ายมานั่นเอง หน่วยเรียกว่า  Coast Guard  ที่มีลักษณะและงานของหน่วยเลียนแบบหน่วยของสหรัฐฯ ที่ตั้งหน่วยมานานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ในนามของ  U.S. Revenue Marine  มีหน้าที่เกี่ยวกับรายได้และป้องกันรายได้ของรัฐในทะเล การป้องกันรายได้ในทะเลที่สำคัญได้แก่ การไล่ล่าโจรสลัดปล้นสดมภ์เรือสินค้าทำให้รัฐขาดรายได้ไปหน่วยได้รับการ เปลี่ยนชื่อเป็น  Coast Guard  ระหว่างสงครามโลกครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๘ และร่วมทำงานกับกองทัพเรือในการสงครามและยามสงครามนับแต่นั้นมา งานของหน่วยก็ได้เพิ่มเติมขึ้นเป็นอันมาก นับตั้งแต่เป็นผู้รักษากฎหมายในทะเล ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือในทะเล ค้นหาและกู้ภัย ตรวจอากาศในทะเล ดูแลเรื่องการเดินเรือ รวมทั้งกระโจมไฟ ประภาคาร ทุ่นไฟ จุดส่งวิทยุหาที่เรือ นอกจากนั้นยังเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสร้างเรือเอกชน ตรวจเรือ ตรวจท่าเรือ ดูแลสิ่งแวดล้อม เตือนภัยภูเขาน้ำแข็ง พูดง่าย ๆ ว่าทำงานในหน้าที่ของตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตในทะเล


คงเป็นเพราะว่าเป็นงานเกี่ยวกับความปลอดภัย และผลประโยชน์ในทะเลของชาติจึงเรียกชื่อหน่วยว่า  Coast Guard  สำหรับภาษาไทยจะเป็นหน่วยเรือป้องกันฝั่ง ออกสำเนียงว่ามีอะไรหรือใครมาโจมตีฝั่งก็จะทำการป้องกันซึ่งความหมายออกจะแคบไปส่วนหน่วยบกที่ทำงานป้องกันฝั่งโดยตรงกลับมีชื่อรักษาฝั่ง กลับกันไปเสีย และในเรื่องการฝึกไล่ล่าโจรสลัดแทนที่หน่วยฝึกจะเป็นหน่วยเรือป้องกันฝั่งแต่กลับเป็นฐานทัพเรือดูไขว้งานกัน

บางประเทศที่มีหน่วยทำงานแบบหน่วยรักษาฝั่ง แต่จัดตั้งหน่วยแบบหน่วยประสานงานอำนวยการโดยอาศัยกำลังจากหน่วยต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย จัดตั้งศูนย์ตรวจการณ์ชายฝั่ง  Coastal Surveillance  ขึ้นในกระทรวงขนส่ง  (Transport)  โดยใช้เครื่องบินของทหารที่มีชั่วโมงบินราว ๒,๕๐๐ ชั่วโมงต่อปี เครื่องบินเช่าบินปีละประมาณ ๒๓,๐๐๐ ชั่วโมง เรือตรวจการณ์ของทหารเรือ ๒ - ๙ ลำเครื่องบินของศุลกากรและเครื่องบินเพิ่มเติมเฉพาะกรณีอีก เช่น กรณีเรือผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน เป็นต้น หน่วยงานนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับอาชญากรรมในทะเลอย่างโจรสลัด ป้องกันการลักลอบจับปลา ไปจนถึงช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล


ตัวอย่างการทำงานของหน่วยนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ในเช้าวันที่ ๖ เครื่องบินได้ตรวจพบเรือประมงอินโดนีเซียล้ำเข้ามาในเขตเศรษฐกิจเฉพาะของ ออสเตรเลียประมาณ ๑๐ ไมล์ หรือ ๒๑๕ กิโลเมตร ทางเหนือของเมืองดาร์วิน โดยได้ร้องขอให้้ทหารเรือส่งเรือออกไปตรวจสอบของทหารเรือได้ส่งเรือตรวจ การณ์ขนาด ๒๕๐ ตัน  HMAS CESSNOCK  โดยมี นาวาตรี  Colin Cooper  เป็นผู้บังคับการเรือ ไปยังพื้นที่เกิดเหตุพบเรือประมงขนาดยาว ๓๕ เมตร แล้วให้เรือประมงหยุดเรือแต่เรือประมงไม่ยอมหยุด เรือตรวจการณ์ได้ใช้วิธีส่งทีมตรวจค้นขณะเรือแล่น  Underway Boarding  แต่กลับถูกเรือประมงเลี้ยวชนจนเรือตรวจการณ์เสียหายเล็กน้อย หน่วยเหนืออนุมัติให้เรือตรวจการณ์เพิ่มมาตรการเพื่อการจับกุม ในชั้นแรกใช้ปืนเล็กยาว  Steyr  ยิงเตือนแต่เรือประมงทำเฉย เรือตรวจการณ์ใช้ปืนกล ๕๐ แคลิเบอร์ยิงเตือน ทางเรือประมงยังเฉยอีก ปืนโบฟอร์ส ๔๐ มม. ที่หัวเรือตรวจการณ์ได้ยิงหลายนัด ข้ามหัวเรือประมงเพื่อหยุดเรือ แต่เรือประมงยังเดินเครื่องแล่นไปทางเหนือขณะที่เวลาใกล้ค่ำและคลื่นแรงขึ้น เรือทั้ง ๒ ลำ แล่นตีคู่กันไปจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จนเรือตรวจการณ์พบว่าจะเริ่มเข้าน่านน้ำของอินโดนีเซีย จึงเลิกติดตามเดินทางกลับดาร์วิน ตัวอย่างนี้เป็นการทำงานร่วมระหว่างเครื่องบินเช่ากับเรือรบต่องานแบบงานของ หน่วยรักษาฝั่ง เรือตรวจการณ์สามารถใช้อาวุธจนจมหรือหยุดเรือประมงได้ แต่ไม่ได้กระทำเพราะอาจเกิดเรื่องราวใหญ่ขึ้นระหว่างประเทศซึ่งอยู่ใน ดุลยพินิจของผู้บังคับการเรือ เรื่องนี้ดำเนินการทางช่องทางทูตต่อไปเพื่อให้ทางอินโดนีเซียรับผิดชอบต่อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่น่าสนใจทางปฏิบัติการก็คือวิธีีการ  Underway Boarding  ที่ทำให้เรือรบถูกเรือประมงชนเอาแล้วเรือประมงยังดื้อแพ่งหนีไปได้


เป็นที่ทราบกันดีว่าในทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกาเกิดเหตุการณ์โจรสลัดปล้น สดมภ์มากกว่าตำบลที่อื่น เพราะเป็นเส้นทางเดินเรือผ่านระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก อนึ่งหน่วยงานของชาติต่าง ๆ ที่มีอยู่หลายชาติในพื้นที่นี้ยังเข้มแข็งไม่พอและประสานงานกันไม่สนิท เนื่องจากเหตุการณ์ติมอร์ตะวันออกกำลังแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย และรัฐอื่นในเกาะอื่น เช่น อาเจ๊ะห์  (ACEH)  อิเรียนจายา  (IRIAN JAYA)  ได้เริ่มเรียกร้องต่อสู้ขอแยกตัวออกไปบ้าง ในระหว่างการเรียกร้องต่อสู้ไปจนถึงเกิดรัฐอิสระใหม่ ๆ จากอินโดนีเซีย จะทำให้การควบคุมดูแลน่านน้ำเหล่านี้ขาดพลังและเอกภาพไปไม่มากก็น้อย บางทีไม่ช้าก็เร็วเราอาจได้พบว่าบริเวณปากอ่าวไทยและทะเลอันดามันตอนใต้มี เหตุการณ์จากโจรสลัดมากขึ้นกว่าที่มากอยู่แล้ว


เรื่องม็อบ - มัน - หมา ที่เกิดเหตุม็อบได้รับบาดเจ็บซึ่งเปรียบเทียบเคียงกับการใช้เรือรบไปทำงาน ที่ไม่รบ หรืองานที่ไม่ตรงกับหน้าที่จองเรือที่ได้รับการออกแบบมานี้ ย่อมต้องการผู้สั่งการใช้เรือผู้มีวิสัยทัศน์ ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ต้องการคนประจำเรือผู้มีคุณวุฒิ มีสามัญสำนึก มีความอ่อนตัวอยู่ในความคิด และได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสมกับงานต้องการเรือที่มีเครื่องมือเครื่อง ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ได้รับการทะนุบำรุงอย่างสมบูรณ์แบบว่าเรือที่ออกไปจากอู่หรือฐานทัพผ่าน มาตรฐาน  Passed  หรือ  ISO  ก็ยิ่งดี

บ่างทีปีนี้ปีหน้าเราท่านอาจได้ยินเรื่องม็อบ - น้ำตาล - ข้าวสาร - เรือสำราญ - เรือรบ กันอีก

ที่มา : พลเรือโท พัน  รักษ์แก้ว : นาวิกศาสตร์ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ หน้า ๓๙ - ๕๒